พฤติกรรมของแต่ละคนมักสะท้อนถึงลักษณะนิสัย วิธีคิด และบุคลิกภาพของพวกเขา แต่สำหรับบางพฤติกรรมที่เหมือนจะ “เยอะ” เกินปกติ เราจะมีวิธีแยกออกได้อย่างไรว่าพฤติกรรมนั้นเป็นบุคลิกดั้งเดิมของคน ๆ นั้นหรือเป็นผลพวงจากปัญหาสุขภาพ ในวันนี้
พวกเราขอแนะนำให้คุณผู้อ่านรู้จักกับคำ 2 คำที่ฟังดูเผิน ๆ อาจจะหมายถึงพฤติกรรมที่ใส่ใจรายละเอียดมากคล้าย ๆ กัน แต่ที่จริงแล้วทั้ง 2 คำแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง นั่นคือคำว่า Perfectionist หรือคนที่ชอบความสมบูรณ์แบบ กับ OCD หรือโรคย้ำคิดย้ำทำ
เช็กพฤติกรรมว่าเป็น Perfectionist หรือมีอาการย้ำคิดย้ำทำกันแน่!
Perfectionist และ OCD คืออะไร ?
Perfectionist หรือคนที่ชอบความสมบูรณ์แบบ ก็คือคนที่พยายามจัดการกับสิ่งรอบตัวให้ดูสมบูรณ์แบบมากที่สุด เช่น การเรียงเสื้อผ้าไล่สี การจัดโต๊ะทำงานให้เป็นระเบียบทุกเช้า การวางแผนกิจกรรมที่ต้องทำลงไปในปฏิทินอย่างละเอียด เป็นต้น ซึ่งคนที่เป็น Perfectionist ไม่ได้ป่วย เพียงแค่เป็นบุคลิกของเขาที่ต้องการทำให้ทุกอย่างออกมาเรียบร้อย ไร้ที่ติ
และไล่จัดการกับสิ่งที่ไม่เป็นระเบียบทุกอย่าง จนคนอื่นอาจมองได้ว่าเป็นคน “เยอะ”
ส่วน OCD (obsessive-compulsive disorder) หรือโรคย้ำคิดย้ำทำ ไม่ใช่บุคลิก
แต่เป็นโรคที่ควรได้รับการรักษา อาการของโรคนี้สะท้อนออกมาให้เห็นได้ผ่านพฤติกรรมที่มักทำย้ำ ๆ ซ้ำ ๆ จนเกินไป เช่น ล้างมือให้สะอาดหลาย ๆ รอบ ไขกุญแจบ้านกลับไปกลับมาเพื่อทำให้แน่ใจว่าล็อกแน่นแล้วจริง ๆ เห็นของที่วางเอียง ๆ แล้วต้องเข้าไปจัดจนกว่าจะตรง เป็นต้น ซึ่งเป็นผลพวงมาจากความผิดปกติในหัวของเจ้าของพฤติกรรมที่ไม่สามารถระงับ
ความกังวลตรงนั้นได้
Perfectionist ต่างจาก OCD อย่างไร ?
อย่างที่ได้กล่าวข้างต้นว่า Perfectionist เป็นบุคลิกภาพและ OCD เป็นโรคภัยที่ต้องได้รับการรักษา ดังนั้น การเป็น Perfectionist ไม่ใช่อาการป่วย ผู้ที่มีบุคลิกภาพนี้ไม่ได้ทุกข์ทรมานกับการทำทุกอย่างให้เป๊ะ สะอาด เป็นระเบียบ ส่วนใหญ่จะเป็นคนรอบข้างต่างหาก
ที่ต้องทรมานกับความเป๊ะแทน แต่ผู้ป่วย OCD ต้องทรมานกับความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติในสมองของพวกเขา จึงต้องทำสิ่งเดิมซ้ำ ๆ จนกว่าจะมั่นใจในความสะอาด ความเป็นระเบียบ ซึ่งไม่ใช่ว่าผู้ป่วยไม่รู้ตัวว่าสิ่งที่ตัวเองทำมันเกินจำเป็นและเสียเวลา
แต่พวกเขาไม่สามารถหยุดความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นได้ จึงต้องทำสิ่งเหล่านั้นซ้ำ ๆ ต่อไป และซ้ำร้าย การไม่ทำสิ่งนั้นซ้ำไปซ้ำมากลับกลายเป็นทำให้พวกเขาทรมานกับอาการวิตกกังวลมากกว่าเดิม
ดังนั้น ถ้าจะให้เป็นการเช็กตัวเองง่าย ๆ ว่าตัวเองเป็น Perfectionist หรือ OCD ก็คือให้ดูที่ความรู้สึกกังวลเป็นหลัก ถ้าคุณจัดการกับความไม่เป็นระเบียบแล้วแฮปปี้ รู้สึกเหมือนทำภารกิจสำเร็จ ยินดีด้วย คุณเป็น Perfectionist แต่ถ้าคุณจัดการกับความไม่เป็นระเบียบแล้วยังรู้สึกกระวนกระวายว่ามันยังไม่เสร็จ ยังไม่เป็นระเบียบมากพอ ต้องจัดการอีก ทั้งที่คุณก็รู้อยู่ว่ามันเรียบร้อยดีแล้ว นั่นเป็นอาการที่บอกว่าคุณควรจะต้องไปพบแพทย์
แล้วการเป็น Perfectionist นั้นดีหรือไม่ดี ?
แม้ว่าการเป็น Perfectionist นั้นจะทำให้คนบางคนมองว่าเป๊ะเกิน เยอะ จู้จี้จุกจิก
แต่การถามว่าดีหรือไม่ดีนั้นต้องมองในมุมของตัวเองเป็นหลักถึงจะให้คำตอบได้ดีที่สุด
อันที่จริง Perfectionist เป็นบุคลิกภาพที่หลาย ๆ องค์กรมักจะผลักดันให้อยู่ในตำแหน่งผู้นำเพราะว่าคนเหล่านี้มักมีมาตรฐานที่สูงและมีความสามารถในการขับเคลื่อนหรือแม้แต่ยกระดับผู้คนรอบตัวให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้นได้ แต่มันก็อาจเป็นดาบสองคมได้ถ้า Perfectionist คนนั้นไม่สามารถก้าวข้ามความรู้สึกกลัวจากการทำผิดพลาดไปได้ และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของ OCD ในที่สุด
ตามทฤษฎีแล้ว Perfectionist สามารถแบ่งออกมาได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่
1) ชนิดที่ปรับตัวได้ง่าย (Adaptive Perfectionism) คนที่มีบุคลิกนี้จะสามารถรับมือกับปัญหาได้เป็นอย่างดี รอบคอบ มั่นใจ ทำงานเป็นระเบียบ สามารถปรับตัวเข้ากับองค์กรได้ด้วยการปรับความคาดหวังให้สอดคล้องกัน แต่ยังคงรักษามาตรฐานของตัวเองและมีการตั้งมาตรฐานที่สูงต่อคนอื่นไว้อยู่ ซึ่งนั่นจะทำให้คนรอบตัวรู้สึกได้รับแรงขับเคลื่อนมากกว่า และทำให้เจ้าตัวประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานได้
2) ชนิดที่ปรับตัวได้ยาก (Maladaptive Perfectionism) คนที่มีบุคลิกนี้จะหวาดกลัวความผิดพลาด กดดันตัวเอง หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่เสี่ยงพลาดสูง ชอบมองหาข้อผิดพลาดของตัวเอง และชอบตั้งคำถามกับการทำงานของคนอื่น เรียกได้ว่าเป็นบุคลิกที่เต็มไปด้วยพิษร้ายทั้งนั้น เพราะนอกจากจะทำให้สภาพจิตของตนเองเสียและอาจถึงขั้นด้อยค่าตัวเองแล้ว ยังทำให้คนรอบข้างรู้สึกแย่และเครียดตามไปด้วย
วิธีการที่ทำให้ Perfectionist ชนิดที่ 2 นั้นลดความกังวลลงได้มีทั้งการฝึกยอมรับในสิ่งที่ตัวเองทำได้ การค้นหาจุดแข็งของตัวเองให้เจอและใช้ในโอกาสที่ถูกต้อง การเรียนรู้ว่าความผิดพลาดนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติ รวมไปถึงการเข้าพบนักจิตวิทยาหรือนักบำบัดแบบเป็นกิจจะลักษณะเพื่อช่วยฟื้นฟูความรู้สึกที่เกิดขึ้น
ถึงแม้ว่าคุณผู้อ่านจะมีหรือไม่มีบุคลิกแบบ Perfectionist แต่ความสำเร็จในหน้าที่การงานก็สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกคน การเลือกสถานที่ทำงานและตำแหน่งงานดี ๆ ที่เหมาะสมกับคุณจะช่วยทำให้ความสำเร็จอยู่แค่เอื้อม ค้นหางานที่เหมาะกับตัวคุณได้ที่ www.jobtopgun.com รวมถึงสามารถอ่านรีวิวบรรยากาศการทำงาน สวัสดิการ และอื่น ๆ
อีกมากมายที่เป็นตัวช่วยในการตัดสินใจสมัครงานของคุณได้ทางเว็บไซต์ www.yousayhrsay.com