เชื่อว่าหลาย ๆ คนในยุคนี้คุ้นเคยกับคำว่า Burnout มากขึ้นจากเสียงของคนรอบข้าง เจอผ่านโซเชียลมีเดีย หรือแม้แต่ได้ยินมาจากในทีวี โดยที่จะเข้าใจตรงกันว่า Burnout คือภาวะหมดไฟในการทำงาน แต่อาจจะมีน้อยคนนักที่จะทราบถึงความร้ายแรงของภาวะนี้ว่ามันส่งผลกระทบต่อชีวิตอย่างไรได้บ้าง รู้ว่าอะไรเป็นสัญญาณเตือนของภาวะ Burnout ก่อนที่จะสายเกินไป และค้นพบวิธีป้องกันตัวเองจากภาวะนี้ วันนี้ พวกเราจึงขอชวนให้ทุกคนมาลองสังเกตตัวเองดูกันหน่อยว่าตอนนี้เราเข้าใกล้ภาวะ Burnout แล้วหรือยัง และจะหลีกเลี่ยงภาวะนี้ได้อย่างไร
10 สัญญาณบ่งบอกว่าคุณอยู่ในภาวะ Burnout พร้อมวิธีการรับมือ
ก่อนอื่น ภาวะ Burnout เกิดขึ้นได้อย่างไร ?
โดยส่วนมาก ภาวะนี้จะเกิดขึ้นเมื่อสภาพแวดล้อมในการทำงานไม่เอื้ออำนวยต่อปรัชญาหรือลักษณะการทำงานของคุณ เช่น ต้องทำงานหนัก งานเยอะ งานยาก งานด่วน หรือมัดรวมมาพร้อมกันทีเดียว หรือบางที ความทุ่มเทของเรากับผลตอบแทนจากงานนั้นอาจไม่แมตช์กัน (ง่าย ๆ คือรู้สึกว่าได้ไม่คุ้มเสีย) ในบางครั้ง เราอาจรู้สึกไม่ยุติธรรม ไม่ได้รับ
การยอมรับ ถูกขีดเส้นแบ่งออกจากคนอื่น ไม่มีตัวตน เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้คุณ
เกิดความเครียด และตามมาด้วยภาวะ Burnout ในที่สุด
ภาวะ Burnout ส่งผลอย่างไรต่อชีวิต ?
ถึงแม้ว่าภาวะ Burnout จะเริ่มต้นจากการทำงานแต่มันส่งผลกระทบต่อชีวิตนอกเวลางานได้ด้วย ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ภาวะ Burnout จะทำให้คุณรู้สึกเหนื่อยล้า
หมดพลังใจ รู้สึกว่าตัวเองทำงานได้ไม่ดีเท่าเดิม ประสิทธิภาพการทำงานไม่เท่าเดิม มองว่างานของตัวเองทำสำเร็จได้ยากขึ้น ท้อกับงานง่ายขึ้น เริ่มเกิดความเหินห่างกับเพื่อนร่วมงาน
ผลกระทบของภาวะ Burnout ที่มีต่อชีวิตในส่วนอื่น ๆ มักจะเกิดกับร่างกายซะส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นอาการเหนื่อยล้าเรื้อรังแม้จะหยุดทำงานแล้วก็ตาม ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว นอนไม่ค่อยหลับ รู้สึกว่าพักผ่อนไม่เพียงพอ บางคนที่มีภาวะ Burnout มาก ๆ อาจเกิดฝันร้าย นอนไม่หลับเรื้อรัง จนเลือกที่จะไปพึ่งพายาเสพติดเพื่อให้รู้สึกผ่อนคลายขึ้น
10 สัญญาณเตือนกำลังบอกว่าคุณอาจมีภาวะ Burnout
ก่อนที่เราจะไปอยู่ในจุดที่ทำให้รู้สึกไม่สบายตัวและไม่สบายใจไปมากกว่านี้ เรามาเช็กตัวเองกันก่อนดีกว่าว่าตอนนี้เรามีอาการเหล่านี้อยู่หรือเปล่า
1) หดหู่ ซึมเศร้า หงุดหงิด โมโหง่าย หรือมีอารมณ์แปรปรวนไม่ปกติ
2) ไม่พอใจในงานที่ทำ รู้สึกว่ายังทำงานได้ไม่ดีเท่าที่เคย หรือเริ่มเบื่อหน่ายกับงานนั้น
3) มองคนอื่นในแง่ร้าย สนใจความรู้สึกของเพื่อนร่วมงานน้อยลง โทษคนอื่นบ่อยขึ้น
4) กังวล สงสัย กดดัน และไม่เชื่อในศักยภาพของตัวเอง
5) หนีปัญหา ไม่จัดการปัญหา ผัดวันประกันพรุ่ง
6) หุนหันพลันแล่น ทำงานแบบขอไปที
7) บริหารจัดการเวลาไม่ได้ เรียงลำดับความสำคัญของงานไม่ได้
8) ขาดความกระตือรือร้น ไม่อยากตื่นไปทำงาน ไปทำงานสายติดต่อกัน
9) ไม่มีสมาธิในการทำงาน
10) ไม่มีความสุขในการทำงาน
ถ้าคุณสำรวจตัวเองและพบว่ามีอาการเหล่านี้ตั้งแต่ 5 ข้อขึ้นไป คุณมีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะ Burnout ได้
ทำอย่างไรจึงจะฟื้นตัวจากภาวะ Burnout ?
หากคุณรู้สึกตัวแล้วว่าคุณกำลังตกอยู่ในภาวะ Burnout กรมสุขภาพจิตได้มีคำแนะนำและ
วิธีการทำให้เราฟื้นตัวจากภาวะนี้ได้ง่าย ๆ 4 ข้อ ดังนี้
1) พยายามเพิ่มชั่วโมงการนอนให้มากขึ้น
การนอนเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ความรู้สึกเหนื่อย รู้สึกล้ามีน้อยลง ไม่ใช่แค่กับภาวะ Burnout อย่างเดียวแต่การนอนครบชั่วโมงที่เหมาะสม (ประมาณ 6-8 ชั่วโมง) ยังช่วยทำให้ร่างกายได้รับการฟื้นฟูพร้อมใช้งานมากขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการ “นอนน้อยแต่นอนนะ” ด้วย เพราะมันไม่ได้ส่งผลดีต่อร่างกายเลย
2) ออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอให้บ่อยขึ้น
การออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ คือการออกกำลังกายที่มุ่งเน้นให้หัวใจและหลอดเลือดทำงานได้อย่างแข็งแรง เช่น การวิ่ง การปั่นจักรยาน สาเหตุที่ระบบหัวใจและหลอดเลือดมีความสำคัญในการช่วยลดภาวะ Burnout นั่นก็เพราะว่าระบบการทำงานของร่างกายนี้เป็นส่วนช่วยให้ออกซิเจนไหลเวียนไปเลี้ยงสมอง ซึ่งเมื่อสมองได้รับออกซิเจนเยอะขึ้นก็จะรู้สึกกระปรี้กระเปร่ามากขึ้น ทำให้เกิดความตื่นตัวและสดชื่นมากขึ้นนั่นเอง
3) ฝึกสติ สมาธิให้มั่นคงขึ้น
หัวใจหลักของการฝึกสติและสมาธิก็คือการจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่วอกแวก
ซึ่งนั่นจะช่วยให้จิตใจของเราสงบและมั่นคงขึ้น และอาจทำให้ภาวะ Burnout ที่กำลังเผชิญอยู่ลดน้อยลงได้ ดังนั้น การฝึกสติและสมาธินั้นจึงไม่จำเป็นต้องเป็นการนั่งสมาธิเท่านั้น ยังมีอีกหลากหลายกิจกรรมเลยที่ช่วยฝึกสติและสมาธิให้ดีขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการวาดรูป ปลูกต้นไม้ เล่นดนตรี หรือโยคะ
4) ฝึกหายใจให้ถูกต้อง
หลายคนอาจสงสัยว่าตอนนี้เราหายใจไม่ถูกต้องอย่างไร ไม่ได้หายใจเป็นจังหวะ
สามช่านี่นา แต่การฝึกหายใจให้ถูกต้องที่แท้แล้วเป็นการนำหลักการของการคาร์ดิโอมาผสมกับการฝึกสมาธินั่นเอง หลาย ๆ ครั้งที่เมื่อมีความเครียด คนเรามักจะหายใจสั้นกว่า ถี่กว่า หรือน้อยกว่าปกติ ซึ่งนั่นทำให้ออกซิเจนเข้าไปเลี้ยงสมองไม่พอ ก่อให้เกิดอาการเหนื่อยล้า
วิธีการฝึกหายใจให้ถูกต้องจึงเป็นเหมือนการดึงสติให้อยู่ที่การควบคุมลมหายใจให้เป็นไปตามปกติต่างหาก ซึ่งสามารถทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่หายใจเข้าทางจมูก นับ 1 ถึง 8 แล้วค่อยหายใจออกทางปากช้า ๆ นับถึง 1 ถึง 8 ทำสลับกันเรื่อย ๆ ประมาณ 10 ครั้งก็ดีขึ้นได้
หากคุณลองทำตามคำแนะนำ 4 ข้อด้านบนแล้วยังไม่รู้สึกดีขึ้น คุณอาจต้องเข้าไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อการรักษาที่ตรงจุดมากขึ้น
อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่าภาวะ Burnout มักเกิดขึ้นเมื่อคุณอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่
ไม่เอื้ออำนวยต่อปรัชญาการทำงานของคุณ ดังนั้น การเลือกที่ทำงานดี ๆ ที่ลงตัวกับคุณอาจเป็นทางออกสำหรับปัญหานี้ได้ ค้นหางานที่เหมาะกับตัวคุณได้ที่ www.jobtopgun.com
รวมถึงสามารถอ่านรีวิวบรรยากาศการทำงาน สวัสดิการ และอื่น ๆ อีกมากมายที่เป็นตัวช่วย
ในการตัดสินใจสมัครงานของคุณได้ทางเว็บไซต์ www.yousayhrsay.com