หลังจากการเปิดตัวของ Chat GPT แชตบอตสุดอัจฉริยะที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางและมีผู้ใช้งานล้นหลามทั่วโลก กระแสความนิยมของ “AI” หรือ “ปัญญาประดิษฐ์” ก็กลับมาเป็นประเด็นที่ผู้คนให้ความสนใจ (อย่างมาก) อีกครั้ง ในยุคดิจิทัลซึ่งการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง ความสามารถของ AI กลายเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายจับตามองว่าจะส่งผลกระทบต่อโลกใบนี้อย่างไร และมนุษย์เราควรใช้ประโยชน์จากเครื่องมือที่มาพร้อมมันสมองล้ำเลิศนี้แบบไหนดี โดยเฉพาะเหล่าคนทำงานที่อาจกลายเป็นเพื่อนร่วมงานกับเหล่าปัญญาประดิษฐ์ในอนาคต เราลองไปหาคำตอบด้วยกันกับ “AI ฉลาด
แค่ไหน! ทำความรู้จัก AI และการนำมาใช้ฉบับคนทำงาน”
ทำความรู้จัก AI คืออะไร? สามารถนำมาใช้ในการทำงานได้อย่างไร

รู้จัก AI เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แห่งโลกยุคดิจิทัล
“AI” (Artificial Intelligence) หรือที่ภาษาไทยเรียกว่า “ปัญญาประดิษฐ์” หมายถึง โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เครื่องมือ หรือเครื่องจักรที่ถูกพัฒนาให้มีความสามารถในการคิด วิเคราะห์ วางแผน และตัดสินใจ ไปจนถึงการเรียนรู้ด้วยตัวเองเหมือนกับมนุษย์ได้ โดยใช้
การประมวลผลข้อมูล อัลกอริทึม และหลักทางสถิติต่าง ๆ เพื่อสร้างผลลัพธ์ออกมาและสามารถดัดแปลง ประยุกต์ ปรับเปลี่ยนผลข้อมูลที่ซับซ้อนเลียนแบบมนุษย์ได้ พูดง่าย ๆ ว่า เป็นการสร้างสิ่งที่มีความสามารถในการทำงานต่าง ๆ ได้เหมือนกับมนุษย์เรานั่นเอง
โดยรูปแบบขั้นตอนการคิด วิเคราะห์ และการทำงานของ AI มาจากองค์ประกอบย่อยที่ทำหน้าที่เหมือนเป็นมันสมองคือ “Machine Learning” การสอนระบบคอมพิวเตอร์ให้ประมวลผล คาดการณ์ ตัดสินใจ และเรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยใช้ชุดข้อมูลที่ถูกป้อนให้ และ “Deep Learning” การเรียนรู้และกรองข้อมูลเชิงลึกของระบบคอมพิวเตอร์ด้วยการใช้
เครือข่ายที่คล้ายกับเซลล์ประสาทในสมอง (Artificial Neural Network) ซึ่งจะทำให้มี
ความสามารถล้ำไปกว่า Machine Learning อีกระดับ ด้วยทักษะและความฉลาดในการ
ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล รวมทั้งการคาดการณ์ความแม่นยำของผลลัพธ์ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้คือองค์ประกอบสำคัญในการสร้างปัญญาประดิษฐ์ที่มีอิทธิพลในชีวิต
ประจำวันของมนุษย์มากขึ้นทุกที

AI ฉลาดแค่ไหน! ทำความเข้าใจพัฒนาการความฉลาดของปัญญาประดิษฐ์
ความฉลาดของ AI ถูกแบ่งออกเป็น 3 ระดับ เริ่มต้นจากระดับสติปัญญาและ
ความสามารถในขั้นแรกคือ “Artificial Narrow Intelligence” (ANI) ซึ่งมีความสามารถและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในวงจำกัด และยังไม่สามารถทำงานเทียบเท่าหรือเทียบเคียงกับมนุษย์ได้ เช่น AI ที่เป็นแชมป์หมากรุก เสิร์จเอนจินของ Google หรือรถยนต์ไร้คนขับ ขยับไปอีกระดับคือ “Artificial General Intelligence” (AGI) ปัญญาประดิษฐ์ที่มีความสามารถเทียบเท่ามนุษย์ ทั้งในการเรียนรู้ วางแผน ตัดสินใจ วิเคราะห์และแก้ปัญหา ไปจนถึงรู้จักใช้ความคิดเชิงนามธรรมที่ซับซ้อน ซึ่งในตอนนี้ AI ในระดับนี้ยังห่างไกลกับความสามารถของมนุษย์และอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาเท่านั้น
ส่วนระดับสูงสุดคือ “Artificial Superintelligence” (ASI) ปัญญาประดิษฐ์ที่มี
ความสามารถและสติปัญญาที่เหนือกว่ามนุษย์ในทุกด้าน ทั้งความคิดเชิงสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ ความรู้เชิงภูมิปัญญา และทักษะในการเข้าสังคม หรือเรียกได้ว่าเป็นปัญญาประดิษฐ์ที่ทรงภูมิปัญญาขั้นสูงสุดซึ่งสามารถทำในสิ่งที่มนุษย์ยังทำไม่ได้เลยทีเดียว
ซึ่งเจ้า ASI ที่จะฉลาดแบบไม่หยุดยั้งนี่แหละที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าอาจจะมาแทนที่และเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องเกรงกลัว (หรือหาทางอยู่ร่วมกัน) ต่อไปในอนาคต

ปรับวิกฤติให้เป็นโอกาส! การนำ AI มาใช้ในการทำงาน
แม้จะฟังดูค่อนข้างน่ากลัวอยู่ไม่น้อย แต่สำหรับคนทำงานทั้งหลาย ลองเปลี่ยน
มุมมองที่มีต่อ AI แล้วปรับเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส โดยการนำความฉลาดและความสามารถของปัญญาประดิษฐ์มาช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพและผลลัพธ์ที่น่าพอใจยิ่งขึ้นดีกว่า
การตื่นตระหนกว่าจะถูกแทนที่ ไม่ว่าจะเป็น “งานการตลาด” ที่ AI สามารถเข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกและพฤติกรรมของผู้บริโภค พัฒนากลยุทธ์ทางการตลาด ไปจนถึงการใช้
แชตบอตที่พร้อมพูดคุย ตอบคำถาม และตอบสนองความต้องการของลูกค้าตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยลดภาระงานที่ซ้ำซากและซ้ำซ้อยของคนทำงานในตำแหน่งนั้น ๆ ไปได้มาก
ในส่วน “งานขาย” AI สามารถเข้ามาช่วยปรับปรุงและจัดการระบบการขายให้ดีขึ้น รวมทั้งยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยพัฒนาการสื่อสารและสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กร นอกจากนี้ยังช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อเพิ่มยอดขายและเพิ่มศักยภาพให้คนทำงานขายได้มีเวลาจัดสรรงานต่าง ๆ ได้มากขึ้น สำหรับ “งานบริการ” ยกตัวอย่างเช่น งานในภาคการโรงแรม AI สามารถทำงานที่หนักหนาและจำเจอย่างการเสิร์ฟอาหารหรือยกกระเป๋าให้แขกแทนพนักงานได้แบบไม่ต้องพักหรือเปลี่ยนกะทำงาน ซึ่งจะช่วยทุ่นแรงและลดความเสี่ยงทางสุขภาพให้พนักงานสามารถใช้เวลาพัฒนาตัวเองและยกระดับการทำงานบริการให้ดีมากขึ้นไปด้วย เช่นเดียวกับ “งานการผลิตและขนส่ง” ที่ใช้ AI เก็บข้อมูลลูกค้า เพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงสินค้าและการบริการ การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารคลังสินค้า ลดความเสียหาย ไปจนถึงการใช้รถยนต์หรือบรรทุกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี เพื่อทำการขนส่งระบบอัตโนมัติที่มีรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ หรือแม้แต่ “งานบริหารทรัพยากรบุคคล” ที่ส่วนใหญ่มักจะเกี่ยวข้องกับการสรรหาอละพัฒนาบุคลากร AI จะเข้ามาช่วยเหล่า HR ให้ทำงานง่ายขึ้นโดยการตรวจสอบ วิเคราะห์ และกลั่นกรอง เพื่อสรรหาผู้สมัครงานที่มีความสามารถและคุณสมบัติที่เหมาะสมกับตำแหน่งในขั้นแรก ซึ่งจะประหยัดเวลา ค่าใช้จ่าย และลดความซ้ำซ้อนในการทำงานให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการนำ AI เข้ามาช่วยงานในองค์กรยังคงต้องอาศัย
ความสามารถของมนุษย์ในการป้อนคำสั่งและควบคุมดูแลอยู่ เพราะความเก่งของ AI ในตอนนี้ก็ยังไม่สามารถมาแทนที่คนทำงานซึ่งเป็นมนุษย์จริง ๆ ได้ แต่เหล่าคนทำงานก็อย่าเพิ่งชะล่าใจ ควรเตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับอนาคตของเทคโนโลยีล้ำยุคด้วยการพัฒนาศักยภาพของ
ตัวเองอยู่เสมอ
แม้เทคโนโลยี AI จะล้ำหน้าไปขนาดไหน แต่คนทำงานก็ยังมีพื้นที่ของตัวเองให้
เข้ามาค้นพบได้ตลอดเวลาที่ www.jobtopgun.com หรือจะไปอ่านรีวิวบริษัทชั้นนำต่าง ๆ
เพิ่มกำลังใจกันได้ที่ www.yousayhrsay.com