รู้ไว้ไม่เสียเปรียบ! ค่าคอมมิชชันของเซลล์คิดยังไง

             ถึงแม้จะเป็นงานที่มีฐานเงินเดือนต่ำกว่าตำแหน่งอื่น ๆ แต่ทุกคนก็น่าจะรู้กันดีว่ารายได้หลักของ “เซลล์” หรือ “พนักงานขาย” ไม่ใช่เงินเดือน แต่คือ “ค่าคอมมิชชัน” ที่เรียกได้ว่าสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ เพียงพอสำหรับการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่เซลล์หลายคน อย่างไรก็ตาม สำหรับหน้าใหม่ในวงการ หรือผู้ที่มีความฝันอยากประกอบอาชีพนี้แต่ยังไม่ได้เริ่มต้น ก็อาจจะยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการคิดค่าคอมมิชชันของพนักงานขาย ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้โดนเอาเปรียบในอนาคต บทความนี้จึงจะมาเป็นตัวช่วย อธิบายเกี่ยวกับค่าคอมมิชชันแบบรอบด้าน ติดตามได้เลย

อธิบายการคิดค่าคอมมิชชันของพนักงานขายที่ควรรู้!

ค่าคอมมิชชันที่เซลล์จะได้รับถ้าปิดการขายได้สำเร็จ

ค่าคอมมิชชันคืออะไร?

             เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่บทความนี้หยิบยกมาบอกเล่าได้อย่างลื่นไหล อันดับแรก จึงจะขอเริ่มต้นอธิบายตั้งแต่พื้นฐานที่ว่า “ค่าคอมมิชชันของเซลล์คืออะไร?”

             ค่าคอมมิชชันของเซลล์ หมายถึง เงินรางวัลพิเศษที่บริษัทต้นสังกัดจ่ายให้แก่พนักงานขาย เพิ่มเติมจากเงินเดือนประจำ โดยเป็นการจ่ายตามผลงาน พิจารณาจากยอดขายหรือการปิดดีลที่ทำได้ เรียกได้ว่าเป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทน เพราะด้านบริษัทผู้จ้างก็ต้องการใช้สิ่งนี้เพื่อกระตุ้นให้พนักงานขายงัดทุกทักษะกลยุทธ์เพื่อสร้างยอดขายให้มากที่สุด ในขณะเดียวกัน ฝ่ายเซลล์ก็รู้สึกเป็นธรรมที่รายได้ขึ้นอยู่กับผลงานของตัวเองคนเดียว ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องแบ่งกับสมาชิกในทีมคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้ตั้งใจทำงานเท่า

             ในส่วนของการคิดค่าคอมมิชชันของพนักงานขายมีหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัท รวมถึงประเภทธุรกิจ โดยสามารถแบ่งเป็นข้อ ๆ ได้ดังต่อไปนี้

             เปอร์เซ็นต์จากยอดขาย

             วิธีนี้คิดค่าคอมมิชชันเป็นเปอร์เซ็นต์ของยอดขายที่ทำได้ เช่น เซลล์ขายสินค้าได้ 100,000 บาท อัตราค่าคอมมิชชัน 5% เซลล์จะได้รับค่าคอมมิชชัน 5,000 บาท

             แบบขั้นบันได

             อีกหนึ่งวิธียอดนิยมในการคิดค่าคอมมิชชันของพนักงานขายคือ วิธีที่เรียกว่า “แบบขั้นบันได” โดยจะเป็นการกำหนดค่าคอมมิชชันเป็นอัตราที่แตกต่างกันตามระดับยอดขาย

  • ยอดขาย 1-100,000 บาท ค่าคอมมิชชัน 5%
  • ยอดขาย 100,001-200,000 บาท ค่าคอมมิชชัน 7%
  • ยอดขาย 200,001 บาทขึ้นไป ค่าคอมมิชชัน 10%

             ตัวอย่างการคำนวณค่าคอมมิชชันแบบขั้นบันได

             สมมติว่าเซลล์ขายสินค้าหรือบริการได้ 150,000 บาท และบริษัทใช้ระบบค่าคอมมิชชันแบบขั้นบันได โดยมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้

  • ยอดขาย 1-100,000 บาท ค่าคอมมิชชัน 5%
  • ยอดขาย 100,001-200,000 บาท ค่าคอมมิชชัน 7%

             ดังนั้น หากต้องการทราบจำนวนที่แน่นอนว่าค่าคอมมิชชันที่พนักงานขายจะได้รับอยู่ที่เท่าไร จะต้องคำนวณตามวิธีขั้นตอนดังต่อไปนี้

  1. ค่าคอมมิชชันจากยอดขาย 100,000 บาทแรก = 100,000 x 5% = 5,000 บาท
  2. ค่าคอมมิชชันจากยอดขาย 50,000 บาทถัดไป (150,000 – 100,000) = 50,000 x 7% = 3,500 บาท
  3. ค่าคอมมิชชันรวม = 5,000 + 3,500 = 8,500 บาท

             นอกจากค่าคอมมิชชันเซลล์แล้ว บางบริษัทยังมีนโยบายในการให้โบนัสพิเศษเป็นเงินก้อนเมื่อสามารถปิดดีลได้ถึงเป้าหมายที่กำหนด ตัวอย่างเช่น รับไปเลยเงินก้อน 20,000 บาท เพิ่มพิเศษไปจากค่าคอมมิชชันที่ได้รับ หากทำยอดขายรวมได้เกิน 1,000,000 บาท เป็นต้น

ผู้หญิงกำลังปิดดีลทางโทรศัพท์เพื่อให้ได้ค่าคอมมิชชันพนักงานขาย

ปัจจัยที่มีผลต่ออัตราค่าคอมมิชชันของพนักงานขาย

             พนักงานขายแต่ละคนย่อมได้รับค่าคอมมิชชันในอัตราที่ไม่เท่ากัน และสิ่งนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกในสายอาชีพนี้ เนื่องจากมีปัจจัยหลายข้อที่เป็นตัวกำหนดอัตราค่าคอมมิชชันที่เซลล์จะได้รับ เช่น

  • ประเภทสินค้าหรือบริการ: กำไรขั้นต้นคือเงินที่เหลือหลังจากหักต้นทุนขายออกจากรายได้ หรือพูดอีกอย่างก็คือส่วนต่างของราคาขายสินค้า โดยประเภทสินค้าที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูง ย่อมส่งผลต่อค่าคอมมิชชันที่สูงตามไปด้วย ตัวอย่างเช่น อสังหาริมทรัพย์
  • มูลค่าของสินค้าหรือบริการ: ไม่ใช่เรื่องแปลกที่สินค้าราคาแพงจะมีค่าคอมมิชชันให้เซลล์ถ้าปิดดีลได้สำเร็จสูงกว่าสินค้าราคาถูก เพราะยิ่งสินค้ามูลค่าสูง พนักงานขายก็ยิ่งต้องใช้ทักษะรอบด้านเพื่อโน้มน้าวใจลูกค้าให้ซื้อได้สำเร็จ รวมถึงระยะเวลาที่ใช้เพื่อปิดดีลก็ยาวนานกว่าอีกด้วย ตัวอย่างเช่น เซลล์คอนโดย่อมได้รับค่าคอมมิชชันสูงกว่าเซลล์ขายโทรศัพท์มือถือ
  • ประสบการณ์ในการทำงาน: เป็นธรรมดาในโลกการทำงาน ที่พนักงานประสบการณ์สูงจะได้รับค่าตอบแทนมากกว่าพนักงานหน้าใหม่ อาชีพเซลล์ก็เช่นเดียวกัน อัตราคอมมิชชันที่ตำแหน่ง Senior Sales Executive ย่อมสูงกว่า Junior Sales Executive จุดประสงค์เพื่อจูงใจและตอบแทนพนักงานขายที่มีทักษะสูงให้อยู่กับบริษัทยาวนาน

             หากงานเซลล์ขายของคือเป้าหมายของคุณ ก็อย่ารอช้า มองหางานเซลล์ขายหลากหลายสาขาที่ใช่ได้ง่าย ๆ เพียงสร้าง Resume ที่มีข้อมูลครบถ้วน นำเสนอจุดแข็งและทักษะของคุณเพื่อสร้างความประทับใจให้แก่ HR ด้วย Super Resume จาก JOBTOPGUN แพลตฟอร์มหางานที่มีงานอัปเดตให้คุณทุกวัน ได้รับการยอมรับจากบริษัทชั้นนำกว่า 30,000 แห่ง พร้อมมีรีวิวบริษัทที่เปิดรับทำงาน ช่วยให้คุณรู้จักบริษัทดียิ่งขึ้นก่อนสมัครงาน มีผู้ลงทะเบียนใช้งานแล้วถึง 4.7 ล้านคน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ได้ที่เบอร์ 02-853-6999 หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน JOBTOPGUN ได้ฟรีทั้งระบบ iOS และ Android

สมัครงานกับบริษัทชั้นนำทันที สร้าง Super Resume (ใบสมัครงาน) เลย ฟรี!

คำค้นหายอดนิยม

..