เรียกว่าเป็นหนึ่งในอาชีพยอดนิยมตลอดกาล โดยเฉพาะกับสาว ๆ ทุกยุคทุกสมัย สำหรับ “Account Executive” หรือ “AE” ที่นับว่าเป็นตำแหน่งสำคัญในแทบทุกบริษัท เพราะถือเป็นผู้ประสานงานระหว่างบริษัทและลูกค้า รวมทั้งฝ่ายอื่น ๆ ในองค์กรให้เป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ แต่นอกจากภาพลักษณ์และบุคลิกภายนอกที่มักจะต้องดูดีไว้ก่อน เพื่อสร้างความประทับใจแล้ว หัวใจสำคัญของการเป็น AE มืออาชีพยังต้องประกอบด้วยความสามารถและทักษะที่หลากหลายด้วยเช่นกัน
ทำความรู้จักอาชีพ AE อาชีพนี้ต้องทำอะไรบ้าง?
จริง ๆ แล้วงาน AE ต้องทำอะไรบ้าง?
ตำแหน่ง “AE” หรือ “Account Executive” คือ ผู้ดูแล จัดการ และประสานงานระหว่างองค์กรและลูกค้าให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันในการทำงาน พูดง่าย ๆ ว่าเป็นคนกลาง
ในการสื่อสารและเป็นเหมือนกาวที่ช่วยเชื่อมความสัมพันธ์กับทุกฝ่าย เพื่อให้การผลิตงานบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยยังคงเป็นไปตาม
ความพึงพอใจของทุกคน รวมทั้งเป็นตัวแทนเจรจาและผู้นำเสนองานของบริษัทตามที่ได้รับมอบหมาย
AE ที่ดีต้องมี (คุณสมบัติ) อะไรบ้าง?
𑇐 เป็นผู้บริหารความสัมพันธ์มือหนึ่ง
หากอยากครองตำแหน่ง AE ขวัญใจของทุกคนในบริษัท สิ่งแรกที่คนทำอาชีพนี้ต้องมีคือ ความสามารถใน “การบริหารความสัมพันธ์” ซึ่งประกอบด้วยการสื่อสาร การวางแผน
การนำเสนอ และการแก้ไขปัญหา อันดับแรกคือ ต้องเป็นผู้ประสานงานและเป็นตัวกลางระหว่างทุกฝ่ายที่สามารถพูดคุยสื่อสารได้อย่างชัดเจน ทั้งฟัง พูด อ่าน และเขียน และมี
ความละเอียดรอบคอบในทุกขั้นตอน เพื่อไม่ให้เกิดการสื่อสารที่ผิดพลาดหรือบกพร่องจนเกิดปัญหาร้ายแรงตามมา โดยเฉพาะการสื่อสารกับลูกค้าที่ส่งผลโดยตรงต่อธุรกิจ
ไม่เพียงแค่การสื่อสาร แต่ยังต้องมีทักษะในการวางแผนงาน ทั้งการตีโจทย์ของลูกค้าให้แตก การบริหารเวลาในการทำงาน การกระจายแผนงานไปสู่ฝ่ายอื่น ๆ ในองค์กร ไปจนถึงการดูแลเรื่องงบประมาณของโปรเจกต์ต่าง ๆ อีกด้วย นอกจากนี้ยังต้องพร้อมที่จะนำเสนอ
ผลงานที่วางแผนไว้ได้อย่างชัดเจนและครอบคลุม เพื่อให้เกิดความเข้าใจแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีทักษะในการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเฉพาะหน้าหรือปัญหาที่เกิดจากความต้องการของลูกค้า
𑇐 เป็นนักเจรจาที่แข็งแกร่งและอดทน
อีกหนึ่งทักษะสำคัญของเหล่า AE คือ เป็นคนมีความอดทนสูง และรับมือกับ
ความกดดันได้ดี รวมทั้งมีความฉลาดทางอารมณ์สูง (EQ) เพราะการทำงานกับลูกค้าและบุคลากรหลายฝ่ายนั้น ไม่ได้มีแค่การพูดคุยกันด้วยเหตุและผลเพียงอย่างเดียว หากแต่หลายครั้งมาพร้อมการพูดคุยด้วยอารมณ์และความไม่เข้าใจกัน AE มืออาชีพจึงต้องมีความอดทน สามารถควบคุมอารมณ์ได้ดี พร้อมรับมือกับผู้คนหลากหลายลักษณะนิสัย และสามารถจัดการความไม่เข้าใจนั้นอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างความพึงพอใจให้แก่ทุกฝ่าย รวมทั้งยังต้องสามารถเจรจาต่อรองเพื่อคงผลประโยชน์ของบริษัทไว้ให้ได้มากที่สุด โดยยังสร้าง
ความพึงพอใจและไม่ทำให้ลูกค้าเสียความรู้สึกอีกด้วย
𑇐 เป็นผู้มีความรอบรู้และหัวใจบริการ
ไม่ว่าจะทำงานในด้านไหน ความรู้พื้นฐานคือสิ่งที่สำคัญ เช่นเดียวกับการเป็น AE
มืออาชีพก็ควรมีความรู้ในสายงานที่ทำเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น หากเป็น AE ในสายธุรกิจ
โรงพยาบาลและการแพทย์ ก็ต้องมีความเข้าใจและความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับลักษณะงานของแพทย์ รู้จักยาและเวชภัณฑ์ต่าง ๆ พอสมควร หรือหากเป็น AE ในธุรกิจไอทีหรือเทคโนโลยีดิจิตอล ก็ควรเรียนรู้ศัพท์เฉพาะ ศัพท์เทคนิค รู้จักการทำงานของเว็บไซต์และเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในงานอย่างแท้จริง พร้อมเป็นตัวแทนของบริษัทในการติดต่อ ประสาน
และนำเสนองานกับลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ การมีหัวใจบริการ มีความใส่ใจ และพร้อมช่วยเหลือลูกค้า ยังเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ช่วยสร้างความประทับใจได้ยาวนาน เพิ่มความเชื่อมั่นและไว้วางใจจากลูกค้า
ส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์อันดีทางธุรกิจไปได้อีกยาวนาน เมื่อมีเคล็ดลับมัดใจลูกค้าได้
อยู่หมัดแบบนี้แล้ว บริษัทของเราก็จะกลายเป็นอันดับแรก ๆ ที่ลูกค้าจะนึกถึงเสมอ
ไขข้อสงสัย AE กับ Sale แตกต่างกันอย่างไร ?
อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจเกิดคำถามในใจว่า แล้วงานที่มีความคล้ายคลึงกันอย่างพนักงานขาย หรือ Sale Executive มีความแตกต่างกับ AE หรือ Account Executive อย่างไร เพราะก็เหมือนเป็นการทำงานกับลูกค้าเช่นเดียวกัน อันที่จริงแล้ว Sale Executive จะทำหน้าที่บริหารจัดการการขาย ที่เน้นขายผลิตภัณฑ์แก่ลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมายให้ได้ยอดขาย
ตามเป้า และได้รับค่าคอมมิชชันเมื่อทำยอดขายได้สูง พูดง่าย ๆ ว่าเน้นขายของให้ได้เท่านั้น
ส่วน Account Executive จะเน้นการบริหารงานลูกค้า สร้างความสัมพันธ์ต่อยอดในภาพรวม และต้องทำงานสื่อสารกับคนที่หลากหลายมากกว่า ไม่ใช่แค่กับลูกค้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึง
ทีมงานและผู้คนในองค์กรด้วย
อย่างไรก็ตาม ด้วยลักษณะงานที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกัน จึงมีคนจำนวนไม่น้อยที่
ต่อยอดหรือเปลี่ยนสายงานไปมาระหว่าง 2 ตำแหน่งนี้ เช่น ผันตัวจาก Sale มาเป็น AE
นำทักษะการทำงานกับลูกค้ามาพัฒนา หรือลองเปลี่ยนจาก AE เป็น Sale เต็มตัว เพื่อมุ่งเน้นกับงานขาย นอกจากนี้ ตำแหน่ง AE ยังสามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่สายงานการตลาด (Marketing) ต่าง ๆ หรือสามารถเจริญเติบโตก้าวหน้าในอาชีพจนไปถึงตำแหน่ง Account Manager และ Account Director ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สูงที่สุดในสายงานนี้ ซึ่งมีเงินเดือนเหยียบหลักแสนได้เลย
ใครกำลังสนใจสายงาน AE และเชื่อมั่นว่าตัวเองมีคุณสมบัติครบถ้วนเหมาะสม
มีความอึด ถึก ทน พร้อมชนทุกสถานการณ์ตามนี้ สามารถเข้ามาค้นหางานเพิ่มเติมได้ที่ www.jobtopgun.com และอ่านรีวิวบริษัทชั้นนำต่าง ๆ ประกอบการตัดสินใจได้ที่ www.yousayhrsay.com
งาน AE ดี ๆ เงินเดือนเริ่ด ๆ รอคุณอยู่!