ในช่วงต้นปีแบบนี้นอกจากจะเป็นสัญญาณการเริ่มต้นสิ่งใหม่ ๆ ในชีวิตแล้ว สำหรับเหล่าคนทำงานและมนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย นี่คือช่วงเวลาสำคัญในการจัดการชำระภาษีจากรายได้ตลอดปีของทุกคน ซึ่งในปัจจุบันเราสามารถ “ยื่นภาษีออนไลน์” ได้อย่างง่ายและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าใครเพิ่งก้าวเข้าสู่การทำงานในปีแรกหรือเป็นมือใหม่ที่ยังคงสับสนกับการยื่นภาษีด้วยตัวเอง เราจึงขอสรุปรวม “คู่มือยื่นภาษีออนไลน์ฉบับเข้าใจง่ายสำหรับมือใหม่” มาให้เป็นแนวทาง และหลังจากนี้การยื่นภาษีออนไลน์ก็จะไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถกันอีกต่อไป
มนุษย์เงินเดือนยื่นภาษีออนไลน์อย่างไร มือใหม่ก็ทำได้
รู้จักประเภทของ “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา”
โดยทั่วไปกฎหมายกำหนดให้บุคคลซึ่งมีเงินได้เกิน 120,000 บาท ต่อปี หรือผู้มี
รายได้เดือนละ 10,000 บาท มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งกำหนดช่วงเวลา
การยื่นภาษี ปีละ 1 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม ของทุกปี ผ่านแบบแสดงรายการ “ภ.ง.ด.91” สำหรับคนที่มีเงินได้ประเภทเดียวคือ “เงินเดือน” และ “ภ.ง.ด.90” สำหรับคนที่มีเงินได้หลายประเภท นอกจากเงินเดือน (อาทิ ค่าจ้าง ค่าช่า ดอกเบี้ยและเงินปันผล เงินได้อื่น ๆ ฯลฯ)
นอกจากนี้ ยังมีแบบแสดงรายการ “ภ.ง.ด.94” แบบชำระภาษีบุคคลธรรมดารอบครึ่งปี สำหรับผู้มีเงินได้ ตามมาตรา 40 (5) – 40 (8) ได้แก่ เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สินต่าง ๆ ,
เงินได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระ (ส่วนใหญ่จะเป็นวิชาชีพที่ต้องได้ใบประกอบวิชาชีพเฉพาะทาง), ค่ารับเหมาที่มีการเหมาทั้งค่าแรงและค่าของ และเงินได้ประเภทอื่น ๆ ที่ไม่เข้าข่ายเงินได้ตามมาตรา 40 (1) – 40 (7) ซึ่งต้องยื่นแบบเพื่อเสียภาษีเงินได้ของเดือนมกราคม – เดือนมิถุนายน ภายในเดือนกันยายนปีเดียวกัน
ยื่นภาษีทันใจ ใช้เอกสารอะไรบ้าง?
ก่อนทำการยื่นภาษีออนไลน์ อย่าลืมเตรียมเอกสารที่จำเป็นให้พร้อม เพื่อให้การยื่นภาษีสำเร็จง่ายดายทันใจ ไม่เสียเวลานั่นเอง
𑇐 เอกสารแสดงรายได้ ซึ่งก็คือ “หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย” หรือ “ใบ 50 ทวิ” จากนายจ้าง ซึ่งเป็นเอกสารที่ระบุว่าเรามีรายได้ตลอดทั้งปีรวมเท่าไหร่ และมีการหักชำระเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือประกันสังคมรวมแล้วเท่าไรบ้าง
𑇐 รายการลดหย่อนภาษีต่าง ๆ เช่น ค่าเลี้ยงดูบิดา-มารดา บุตร หรืออุปการะคนพิการ
𑇐 เอกสารประกอบการลดหย่อนภาษี เช่น ประกันชีวิตแบบบำนาญ ประกันสุขภาพของบิดา-มารดา เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จำนวนเงินที่ซื้อกองทุน RMF / SSF ค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าหรือบริการ สิทธิลดหย่อนจากโครงการรัฐบาล และเงินบริจาคต่าง ๆ อาทิ
เพื่อการศึกษา กีฬา การพัฒนาสังคม โรงพยาบาลรัฐ ไปจนถึงการบริจาคให้พรรคการเมือง เป็นต้น
9 ขั้นตอนการยื่นภาษีออนไลน์แบบเข้าใจง่าย ทำเสร็จได้ภายในไม่กี่นาที!
1. เข้าสู่เว็บไซต์ของกรมสรรพากร www.rd.go.th หรือ //efiling.rd.go.th/rd-cms แล้วคลิกที่ “ยื่นแบบออนไลน์” กรอก “เลขประจำตัวประชาชน” ที่ช่องเลขประตัวผู้เสียภาษีอากรหรือชื่อผู้ใช้งานและ “รหัสผ่าน” ที่เคยตั้งไว้จากนั้นคลิก “ปุ่มเข้าสู่ระบบ” (หากยื่นภาษีครั้งแรกต้องคลิก “สมัครสมาชิก” ก่อน โดยขั้นตอนการสมัครง่าย ๆ คือ กรอกรายละเอียดตามบัตรประชาชน หมายเลขโทรศัพท์มือถือ และตั้งรหัสผ่าน เป็นอันเสร็จเรียบร้อย)
2. ยืนยันตัวตนด้วยระบบ OTP โดยรหัส OTP จะส่งมาทางหมายเลขโทรศัพท์มือถือที่เคยลงทะเบียนไว้ (แต่ถ้าเปลี่ยนเบอร์แล้วให้กรอกเบอร์ใหม่ได้เลย) เสร็จแล้วคลิกขอรหัส OTP และกรอกในช่องที่ระบุ จากนั้นกดยืนยัน
3. สำหรับคนทำงานออฟฟิศหรือมนุษย์เงินเดือน กดเลือก “ยื่นแบบ” ช่อง ภ.ง.ด. 90/91 โดยเลือกภาษีเงินได้จากประเภทเงินได้ที่เราได้รับจากประเภทการยื่นภาษีที่กล่าวมาข้างต้น
4. กรอกข้อมูล 5 ขั้นตอน ได้แก่ กรอกข้อมูลผู้เสียภาษี กรอกเงินได้ กรอกค่าลดหย่อน ตรวจสอบข้อมูล และยืนยันข้อมูล
5. กรอกข้อมูลผู้เสียภาษี ระบบจะแสดงข้อมูลส่วนบุคคลต่าง ๆ เช่น เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขบัตรประชาชน), ชื่อ-นามสกุล, วันเดือนปีเกิด, สถานที่ติดต่อ (สถานที่ตามบัตรประชาชน), ร้านค้า/กิจการส่วนตัว (ถ้ามี), สถานะในปัจจุบัน (โสด หม้าย และสมรส) ให้เรากรอกข้อมูลให้ครบ เสร็จแล้วคลิกไปขั้นตอนถัดไป
6. กรอกเงินได้ ระบบจะแสดงหน้ารายได้จากแหล่งต่าง ๆ เช่น เงินเดือน, ฟรีแลนซ์-รับจ้างทั่วไป-วิชาชีพอิสระ, ทรัพย์สินการทำธุรกิจ, การลงทุน และมรดกหรือได้รับมา สำหรับพนักงานออฟฟิศให้เลือกรายได้จากเงินเดือน คลิกระบุข้อมูล แล้วกรอกรายละเอียดต่าง ๆ เช่น รายได้ทั้งหมด, ภาษีหัก ณ ที่จ่าย, เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของนายจ้าง และกดบันทึก
7. กรอกค่าลดหย่อนภาษีต่าง ๆ อาทิ ค่าลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว เช่น ค่าเลี้ยงดูบิดา-มารดา บุตร, ค่าลดหย่อนด้านการออมและการลงทุน เช่น ประกันชีวิตแบบบำนาญ เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จำนวนเงินที่ซื้อกองทุน RMF / SSF, ค่าลดหย่อนจากสินทรัพย์และมาตรการนโยบายภาครัฐ เช่น ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย และค่าลดหย่อนบริจาค เช่น เงินบริจาคสนับสนุนการศึกษา สถานพยาบาล ฯลฯ
8. ตรวจสอบข้อมูล โดยระบบจะสรุปข้อมูลเงินได้หักลบด้วยรายการลดหย่อนภาษีทั้งหมด “เพื่อคำนวณภาษีที่ต้องชำระ” ซึ่งผู้ยื่นภาษีสามารถคลิก “ดูวิธีการคำนวณ” ได้
เพื่อตรวจสอบที่มาของตัวเลขดังกล่าวและเพื่อตรวจสอบข้อมูลอีกครั้ง
9. ยืนยันข้อมูล โดยผู้ยื่นภาษีสามารถเลือกพิมพ์แบบบันทึกร่าง หรือกดยืนยันเพื่อส่งแบบยื่นภาษีได้ทันที ทั้งนี้หากต้องการขอคืนภาษีเนื่องจากชำระภาษีเกิน ให้เลือกช่องทางโอนเข้าพร้อมเพย์ หรือตามวิธีที่กรมสรรพากรประกาศในแต่ละปีได้เลย
ถ้าจัดการยื่นภาษีกันสำเร็จแล้ว ใครอยากลองหางานดี ๆ เพิ่มรายได้กันอีกทาง เข้าไปได้เลยได้ที่ www.jobtopgun.com หรือจะไปอ่านรีวิวบริษัทชั้นนำต่าง ๆ เพื่อสร้างอนาคตการทำงานใหม่ ๆ ได้ที่ www.yousayhrsay.com