ด้วยสภาวะความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งสถานการณ์โลกในปัจจุบัน หากใครกำลังตกอยู่ในสภาวะว่างงาน หรืออาจต้องกลายเป็นคนว่างงานแบบไม่รู้ตัว ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็ไม่ต้องตกใจไป เพราะในเวลาแบบนี้ เหล่าคนทำงาน พนักงานบริษัท หรือลูกจ้างในองค์กรต่าง ๆ สามารถไปรายงานตัวและขึ้นทะเบียนว่างงาน เพื่อขอรับเงินชดเชยในขณะที่มองหางานใหม่ได้ โดยเรารวบรวม สรุปขั้นตอนและวิธีการ “รายงานตัวว่างงาน” มาให้แบบครบจบในบทความนี้กันไปเลย
วิธีขึ้นทะเบียนว่างงานและรายงานตัวว่างงานเพื่อขอรับเงินชดเชย
ใครที่มีสิทธิ์รับเงินชดเชย เมื่อ “รายงานตัวว่างงาน”?
ผู้ที่จะได้รับเงินชดเชย เมื่อลงทะเบียนและรายงานตัวว่างงาน ต้องเป็น “ผู้ประกันตนมาตรา 33” ที่ทำงานให้กับนายจ้างอยู่ในสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป และ “ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน” ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนว่างงาน
ทั้งนี้ หากว่างงานจาก “การลาออกเองหรือหมดสัญญาจ้าง” จะได้รับเงินชดเชย
30 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง ภายในระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน สำหรับ “การถูกเลิกจ้างงาน” จะได้รับเงินชดเชย 50 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง ภายในระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน ส่วนการว่างงานจาก “เหตุสุดวิสัย” (อัคคีภัย วาตภัย หรือธรณีพิบัติ ภัยธรรมชาติ ฯลฯ ซึ่งมีผลกระทบต่อสาธารณะและทําให้ผู้ประกันตนไม่สามารถทํางานได้ หรือนายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ) จะได้รับเงินชดเชย 50 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง ภายในระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน
(*หมายเหตุ คำนวณจากฐานค่าจ้างขั้นต่ำ เดือนละ 1,650 บาท และสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท)
ขั้นตอนและวิธีการ “รายงานตัวว่างงาน”
ปัจจุบันหากไม่ต้องเสียเวลาไปถึงหน่วยงานของสำนักงานประกันสังคมอีกต่อไป เพราะเราสามารถขึ้นทะเบียนและรายงานตัวผ่านบริการ e-Service จากประกันสังคมได้เลยทาง
//e-service.doe.go.th แล้วจากนั้นทำตามขั้นตอนต่อไปนี้
1) ทำการขึ้นทะเบียน โดยกรอกข้อมูลส่วนบุคคล วุฒิการศึกษา สถานะการออกจากงาน
2) กรอกข้อมูลในแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน กองทุนประกันสังคม สปส.2-01/7
3) แนบไฟล์สำเนาสมุดบัญชีธนาคาร (บัญชีออมทรัพย์) ที่ต้องการใช้รับเงินชดเชย
เพียงแค่นี้ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย ขั้นตอนต่อไปคือ “การรายงานตัวกรณีว่างงาน”
ซึ่งจะต้องเข้าไปรายงานตัว “ทุกเดือน” ทาง //e-service.doe.go.th โดยเลือกเมนูรายงานตัว ซึ่งผู้ประกันสามารถรายงานตัวได้ก่อนวันที่กำหนด (โดยระบบจะแจ้งเตือนเมื่อถึงกำหนด
การรายงานตัว)
ทั้งนี้ เราสามารถเข้าไปตรวจสอบสถานะการรับผลประโยชน์ทดแทนได้ ซึ่งมีทั้ง
ตรวจสอบการขึ้นทะเบียน, ตรวจสอบการรายงานตัว และตรวจสอบการจ่ายเงินประโยชน์ทดแทน ได้ในเว็บไซต์เดียวกันนี้
หรือหากไม่สะดวกยื่นรายงานตัวทางออนไลน์ ก็ยังสามารถไปยื่นเอกสาร ได้แก่ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน, รูปถ่าย 1 นิ้ว 1 รูป, แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส.2-01/7) ที่กรอกรายละเอียดครบถ้วน หรือหนังสือหรือคำสั่งของนายจ้างให้ออกจากงาน (สปส.6-09 / ถ้ามี) และสำเนาสมุดบัญชีธนาคาร (ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน), ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย) ด้วยตัวเองได้ที่สำนักงานประกันสังคมทุกแห่งทั่วประเทศ หรือติดต่อรายงานตัวผ่านทาง Line หรือ e-mail ของสำนักงานประกันสังคมในพื้นที่ที่สะดวกไปก็ได้เช่นกัน (แต่แนะนำให้โทรไปถามข้อมูลจากประกันสังคมสาขานั้น ๆ ก่อน เพราะแต่ละที่อาจมีช่องทางติดต่อที่แตกต่างกันไป)
7 ข้อควรรู้! สำหรับคนว่างงาน
1) เราสามารถรายงานตัวว่างงานหรือลงทะเบียนรายงานตัวว่างงานได้ใน “ตั้งแต่วันแรกที่ออกจากงาน” ภายในระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน และต้องทำการยื่นเรื่องเพื่อรับเงินชดเชย
ว่างงาน ภายในเวลาไม่เกิน 1 ปี (หลังจากออกจากงาน)
2) หากขึ้นทะเบียนว่างงานล่าช้าเกิน 30 วัน สามารถยื่นเรื่องได้ภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ว่างงานและยังไม่ได้มีการกลับเข้าทำงานกับนายจ้างใหม่
3) ในกรณีที่ผู้ประกันตนไม่ได้รายงานตัวตามกำหนดในเดือนนั้น ๆ ระบบจะขึ้นให้รายงานตัวในเดือนถัดไป ซึ่งสามารถทำได้ แต่ต้องระบุเหตุผลที่รายงานตัวล่าช้า เพื่อประกอบการพิจารณาว่าสมควรจะได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในเดือนนั้น ๆ หรือไม่
4) สำหรับผู้ประกันตนที่ไปยื่นรายงานตัวที่หน่วยงานของประกันสังคมด้วยตัวเอง หากไม่สะดวกรายงานตัวว่างงานที่สำนักงานจัดหางานเขตพื้นที่เดิมก็สามารถรายงานตัวที่สำนักงานจัดหางานเขตพื้นที่ใดก็ได้ที่สะดวก
5) ผู้ประกันตนที่ว่างงานยังสามารถใช้สิทธิสวัสดิการจากประกันสังคมต่อได้อีก 6 เดือน โดยไม่ต้องจ่ายเงินประกันสังคมภายในระยะเวลานั้น และภายใน 6 เดือน ผู้ประกันตนที่ต้องการอยู่ในระบบจะต้องสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 เพื่อให้ได้รับสิทธิของสำนักงานประกันสังคมต่อไป
6) สำหรับผู้ประกันตน มาตรา 39 ที่สมัครใจส่งเงินสมทบเอง ได้งานประจำที่สถานประกอบการใหม่ นายจ้างหรือ HR จะดำเนินการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนย้ายมาเป็นมาตรา 33 (สปส.1-03) ให้ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่เข้าทำงาน โดยอัตโนมัติ โดยผู้ประกันตนไม่ต้องทำเรื่องลาออกจากการเป็นผู้ประกันตน มาตรา 39 ด้วยตัวเอง
7) หากต้องการรายละเอียดหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม ติดต่อได้ทางเว็บไซต์ www.sso.go.th หรือโทรไปที่ สายด่วน 1506 ให้บริการทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
ส่วนใครที่กำลังมองหางานใหม่ หรืออยากเปลี่ยนสายงานเพื่ออนาคตที่ดียิ่งขึ้น
ไปค้นหากันได้เลยที่ www.jobtopgun.com หรือไปอ่านรีวิวบริษัทชั้นนำต่าง ๆ เพื่อทำความรู้จักและนำมาประกอบการตัดสินใจได้ที่ www.yousayhrsay.com