เพราะโดยส่วนใหญ่แล้ว นายจ้างคือฝ่ายที่มีมากกว่าทั้งเงินทองและกระบอกเสียง ดังนั้น เหตุการณ์นายจ้างเอาเปรียบ หรือปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมกับลูกจ้างจึงเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ไม่ได้เพิกเฉยต่อปัญหานี้ และพยายามแก้ด้วยการออก “กฎหมายแรงงาน” ที่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับเวลาทํางาน วันหยุด วันลา และอื่น ๆ มาบังคับใช้
กฎหมายแรงงานมีอะไรบ้างที่ลูกจ้างควรรู้ไว้ ?
เรียกได้ว่ากฎหมายแรงงานคือ เกราะป้องกันที่สำคัญของฝ่ายลูกจ้างไม่ให้โดนนายจ้างเอาเปรียบ ดังนั้น เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ลูกจ้างทุกคนควรมีความรู้พื้นฐานในเรื่องนี้ไว้ แต่ถ้าใครยังไม่รู้ก็ไม่เป็นไร เพราะบทความนี้รวบรวมเรื่องที่สำคัญเกี่ยวกับกฎหมายแรงงานว่ามีอะไรบ้างมาไว้ในที่เดียวแล้ว สามารถติดตามอ่านได้เลย
เงินเดือนและค่าล่วงเวลา
ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างไม่ต่ำกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งในปัจจุบัน ปี 2567 มีการแบ่งอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 17 อัตรา อยู่ระหว่าง 330-370 บาทต่อวัน ตามแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 คณะกรรมการค่าจ้างมีมติเห็นชอบให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มเป็นวันละ 400 บาท สำหรับกิจการโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไป ที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไปใน 10 จังหวัดนำร่อง ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2567 เป็นต้นไป
จำนวนวันลา
เพื่อไม่ให้ลูกจ้างต้องทำงานหนักเกินไป กฎหมายแรงงานจึงวางหลักไว้ว่า ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี จะมีสิทธิลาพักร้อนประจำปีได้ไม่น้อยกว่า 6 วันทำการ รวมถึงลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปี ยังมีสิทธิลาป่วยได้ไม่เกิน 30 วันทำการต่อปีอีกด้วย ซึ่งถือเป็นสิทธิที่สำคัญมากเพื่อให้ลูกจ้างสามารถดูแลสุขภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่เมื่อเจ็บป่วย โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกหักค่าจ้าง หรือถูกเลิกจ้าง
ชั่วโมงการทำงาน
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่กฎหมายแรงงานได้กำหนดเอาไว้ก็คือ เรื่องเวลาทํางาน เพราะมีนายจ้างจำนวนไม่น้อยที่ต้องการให้เสร็จเร็ว ๆ จึงให้ลูกจ้างทำงานอย่างหักโหม ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรม
กฎหมายแรงงานได้กำหนดมาตรฐานชั่วโมงการทำงานปกติของลูกจ้างไว้ไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน หรือ 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งถือเป็นมาตรฐานขั้นพื้นฐานเพื่อคุ้มครองลูกจ้างไม่ให้ต้องทำงานเป็นเวลานานเกินไป จนเกิดผลเสียต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต
ในกรณีที่ลูกจ้างต้องทำงานล่วงเวลา ก็จะได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าของค่าจ้างต่อชั่วโมง และสำหรับลูกจ้างที่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด หากต้องทำงานในวันหยุดก็จะได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตามชั่วโมงที่ทำงาน
การลาออก
- หากลูกจ้างทำงานติดต่อกันไม่ถึง 120 วัน สามารถลาออกได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้าแก่นายจ้าง
- แต่หากทำงานติดต่อกันครบ 120 วันแต่ไม่ถึง 1 ปี จะต้องบอกกล่าวการลาออกล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน
- ทั้งนี้ หากทำงานครบ 1 ปีขึ้นไป ต้องแจ้งให้นายจ้างทราบล่วงหน้า 1 เดือนขึ้นไป เพื่อให้นายจ้างมีเวลาเตรียมการหาคนมาทำงานแทน
เงินชดเชยกรณีโดนเลิกจ้าง
ในกรณีนายจ้างต้องการเลิกจ้างโดยที่ลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดใด หรือที่ทุกคนคุ้นหูกันดีกับคำว่า “เลย์ออฟ” แน่นอนว่า กฎหมายแรงงานก็ได้คุ้มครองลูกจ้างในส่วนนี้เช่นกัน โดยลูกจ้างมีสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับเงินชดเชยตามจำนวนต่อไปนี้
- ลูกจ้างทำงานมายังไม่ถึง 120 วัน นายจ้างจะไม่จ่ายค่าชดเชยก็ได้
- ลูกจ้างทำงานมาแล้ว 120 วัน – 1 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 30 วัน ในอัตราสุดท้าย
- ลูกจ้างทำงานมาแล้ว 1-3 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 90 วัน ในอัตราสุดท้าย
- ลูกจ้างทำงานมาแล้ว 3-6 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 180 วัน ในอัตราสุดท้าย
- ลูกจ้างทำงานมาแล้ว 6-10 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 240 วัน ในอัตราสุดท้าย
- ลูกจ้างทำงานมาแล้ว 10-20 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 300 วัน ในอัตราสุดท้าย
- ลูกจ้างทำงานมาแล้ว 20 ปีขึ้นไป นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 400 วัน ในอัตราสุดท้าย
เมื่อได้รู้แล้วว่ากฎหมายแรงงานประเด็นสำคัญมีอะไรบ้าง เชื่อว่าทุกคนน่าจะไม่โดนนายจ้างเอาเปรียบแน่นอน และสำหรับใครที่กำลังมองหาตำแหน่งงานที่เหมาะสมกับตัวเอง ไม่ว่าจะงานที่กรุงเทพฯ งานเชียงใหม่ หรืองานที่ชลบุรี แนะนำให้สร้าง Resume ที่มีข้อมูลครบถ้วน นำเสนอจุดแข็งและทักษะของคุณเพื่อสร้างความประทับใจให้แก่ HR ด้วย Super Resume จาก JOBTOPGUN แพลตฟอร์มหางานที่มีงานอัปเดตให้คุณทุกวัน ได้รับการยอมรับจากบริษัทชั้นนำกว่า 30,000 แห่ง พร้อมมีรีวิวบริษัทที่เปิดรับทำงาน ช่วยให้คุณรู้จักบริษัทดียิ่งขึ้นก่อนสมัครงานชลบุรี มีผู้ลงทะเบียนใช้งานแล้วถึง 4.7 ล้านคน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ได้ที่เบอร์ 02-853-6999 หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน JOBTOPGUN ได้ฟรีทั้งระบบ iOS และ Android