ไม่ว่าจะเป็นเฟิร์สจ็อบเบอร์ที่เริ่มทำงานใหม่ ๆ หรือเหล่ามนุษย์เงินเดือนที่ทำงานมานานหลายปีย่อมต้องมีอาการเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าและเบื่อหน่ายภาระงานที่กองอยู่ตรงหน้าจนอยาก “ลาออก” กันบ้าง แต่อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจอย่างผลีผลามเกินไป ลองหันกลับมาคิดทบทวนและค้นหาสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เราอยากเทงานทั้งหมดแล้วจากไป หรือจริง ๆ แล้วเป็นเพราะเกิดอาการ “Burnout” หรือภาวะหมดไฟในการทำงานกันแน่ ใครกำลังตกอยู่ในภาวะลังเล ไม่แน่ใจในความต้องการ (ลาออก) ที่แท้จริงของตัวเอง เราขอชวนอ่าน “อยากลาออก? ทบทวนก่อนตัดสินใจ อยากออกจริง ๆ หรือแค่ Burnout!” เพื่อเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจอีกครั้ง
ทบทวนตัวเองก่อนยื่นลาออก อยากออกจริง ๆ หรือแค่หมดไฟ?
“Burnout” ภาวะหมดไฟที่ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับปัญหา “Burnout” ของเหล่าคนทำงานที่กำลังกลายเป็นสาเหตุใหญ่ในการทำงานของคนยุคนี้ ภาวะหมดไฟในคนทำงาน หรือ “Burnout Syndrome” หมายถึง ภาวะความเปลี่ยนแปลงทางจิตใจที่เกิดจากความเครียด ความเหนื่อยล้าจากการทำงานที่หนักเกินไปและการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย ไม่อยากทำอะไร ขนาดความสนุกและแรงจูงใจในการทำงาน เริ่มเกิดความรู้สึกเชิงลบ รู้สึกไม่ประสบ
ความสำเร็จ ไม่มีความสามารถเพียงพอ ไปจนถึงเริ่มมีความสัมพันธ์ที่ห่างเหินกับคนรอบข้าง พูดง่าย ๆ ว่า หากใครกำลังมีอาการแค่เริ่มต้นเช้าวันใหม่ก็ไม่อยากออกไปทำงาน รู้สึกเหนื่อยไปล่วงหน้า แค่ก้าวขาเข้ามาในออฟฟิศก็เครียดจนหน้านิ่วคิ้วขมวด อยากเร่งให้เข็มนาฬิกาเดินไปถึงเวลาเลิกงานเร็ว ๆ อยู่ตลอดวันแล้วล่ะก็ นี่คืออาการของคนที่กำลังตกอยู่ในภาวะหมดไฟซึ่งไม่ส่งผลดีต่อประสิทธิภาพในการทำงานอย่างแน่นอน
สัญญาณเตือนและวิธีการรับมือกับภาวะ “Burnout”
หากยังไม่แน่ใจว่ากำลังประสบภาวะหมดไฟอยู่หรือไม่ ลองเริ่มจากมองหาสัญญาณเตือน (ที่อาจร้องเตือนอยู่ในตอนนี้) กันก่อน โดยคนที่อยู่ในช่วง Burnout มักจะเริ่มต้นด้วย “อาการเหนื่อยล้า” เรื้อรัง รู้สึกท้อแท้ หดหู่ ไม่พอใจ หงุดหงิด โกรธง่าย หมดอาลัยตายอยาก และไม่พอใจในผลงานที่ทำ จากนั้นจะเข้าสู่ “การมีความคิดเชิงลบ” อยู่ตลอดเวลา คิดแต่แง่ร้าย มองเห็นแต่ปัญหา เอาแต่บ่นและวิพากษ์วิจารณ์มากกว่าลงมือทำ พยายามหลีกหนีปัญหา ไปจนถึงการหมดความสนใจในงานที่ทำ ซึ่งเหล่านี้จะส่งผลให้เกิด “อาการหมดไฟหรือ
หมดประสิทธิภาพ” ในงานที่ทำ ทั้งการไม่อยากมาทำงาน เริ่มขาดงานหรือมาสาย คิดงาน
ไม่ออก สมองตีบตัน วิตกกังวลกับงานจนอารมณ์เปลี่ยนแปลงสุดเหวี่ยง หากเราปล่อยให้ตัวเองตกอยู่ในภาวะนี้โดยไม่สนใจสัญญาณเตือนก็อาจนำไปสู่การเป็นโรคเครียดรุนแรงหรือโรค
ซึมเศร้าได้
คนทำงานต้องรู้! วิธีรับมือกับอาการหมดไฟ
𑇐 ดูแลสุขภาพและพักผ่อนให้เพียงพอ
อันดับแรกคือการหันกลับมาให้ความสำคัญกับสุขภาพกายและใจของเราให้มากขึ้น เริ่มจากการนอนหลับอย่างเพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ รวมทั้งหาเวลา
ออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มความสดชื่นกระปรี้กะเปร่าและทำให้ร่างกายแข็งแรง เมื่อสุขภาพดีแล้ว ความเครียดความกังวลจากงานจะลดลง แถมยังทำให้สมองปลอดโปร่งสดใส คิดงานต่าง ๆ ได้อย่างสร้างสรรค์
𑇐 กำหนดเป้าหมายและขอบเขตของการทำงาน
หลายคนเกิดอาการหมดไฟเพราะหน้าที่รับผิดชอบงานหนักและมากเกินไป ลองกำหนดเป้าหมายและขอบเขตในการทำงานให้เหมาะสม พยายามบริหารจัดการปริมาณงาน
ให้สอดคล้องกับเวลาในการทำ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหางานล้นมือจนกลายเป็นความเครียดสะสม โดยอาจจะนำเสนอแผนงาน พร้อมขอความเห็นและความร่วมมือจากหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน แล้วนำมาปรับใช้ให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานแก่ทุกคน นอกจากนี้ ลองตั้งเป้าหมายง่าย ๆ หรือความสำเร็จเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการทำงานแต่ละวัน เพื่อสร้างพลังบวกและเพิ่มการเห็นคุณค่าในตัวเอง เมื่อจัดการงานต่าง ๆ ได้ตามเป้าหมายนั้น ๆ
𑇐 รู้จักหาเวลาพักผ่อนและทำกิจกรรมอื่น ๆ
แม้จะเป็นคนชอบทำงานแค่ไหน แต่เราทุกคนก็ต้องการเวลาพักจากงานต่าง ๆ อยู่ดี ลองหาเวลาไปพักผ่อน ใช้เวลากับตัวเอง เช่น ลาพักร้อนไปท่องเที่ยวเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ หรือการพักผ่อนอยู่เฉย ๆ เพื่อทบทวนที่ทำในสิ่งที่ชอบ รวมทั้งการทำกิจกรรมสนุก ๆ ไม่ว่าจะ
ดูหนัง ฟังเพลง ท่องเที่ยว เล่นกีฬา เล่นกับสัตว์เลี้ยง ฯลฯ ซึ่งจะช่วยเยียวยาจิตใจและเป็นการเติมไฟในการทำงานที่ดี
ถ้าอยากลาออกจริง ๆ อย่าลืมคิดและถามตัวเองให้แน่ใจ
หากอ่านมาถึงตรงนี้แล้วยังรู้สึกว่าการลาออกคือหนทางสุดท้ายที่จะช่วยชีวิตเราได้ ลองตอบคำถามเหล่านี้ดูก่อนว่าเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดหรือยัง เริ่มจากเรามีความลำบาก
ในด้านการเงินหรือไม่ เพราะหากไม่มีเงินสำรองในชีวิตเลย การลาออกคงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีและจะยิ่งก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา ที่ทำงานไม่สามารถช่วยให้เราเติบโตในสายงานได้อีกหรือไม่ หากคำตอบคือใช่ เราได้ลองมองหางานใหม่ไว้หรือยัง หรือมีการเตรียมพร้อมและวางแผนหลังจากลาออกอย่างไรบ้าง ถ้าหากมั่นใจว่าเรามีเงินสะสมไว้เพียงพอ มีเวลาในการพัฒนาตัวเองและหางานใหม่ รวมทั้งเตรียมแผนสำรองในชีวิตไว้พร้อมแล้ว การลาออกคงไม่ใช่เรื่องผิด แต่จะช่วยให้เราหลุดจากชีวิตการทำงานที่ไม่มีความสุขได้อย่างแท้จริง
คนทำงานที่อยู่ในช่วงหมดไฟหรือกำลังตัดสินใจจะลาออก อย่าเพิ่งรีบร้อน!
ลองเข้าไปหาข้อมูลและค้นหาตำแหน่งงานที่ตรงใจกันก่อนได้ที่ www.jobtopgun.com หรือไปอ่านรีวิวบริษัทชั้นนำต่าง ๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจได้ที่ www.yousayhrsay.com