เรียกได้ว่าในปัจจุบัน AI เป็นตัวช่วยที่ดีมาก ๆ สำหรับคนทำงานในหลาย ๆ สายงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายงานสร้างสรรค์ แต่อย่างที่ทราบกันว่าผลงานของ AI นั้นเกิดจากการเรียนรู้ผลงานที่เคยถูกสร้างขึ้นมาก่อนของผู้คนทั่วโลกและถูกปรับแต่งให้เป็นไปตามสไตล์ที่กำหนด นั่นจึงอาจทำให้ผลงานจาก AI นั้นไปละเมิดลิขสิทธิ์ของคนอื่นโดยไม่รู้ตัวก็ได้ วันนี้ พวกเราจะขอมอบเช็กลิสต์ให้กับคนทำงานอย่างคุณว่าจะสามารถใช้งาน AI อย่างไรให้ไม่เกิดปัญหาภายหลัง
คนทำงานยุคใหม่ต้องรู้ ใช้ AI อย่างไรไม่ให้เกิดปัญหา
3 เช็กลิสต์สำหรับคนทำงานที่ใช้ AI เป็นตัวช่วย
1. ผลงานของ AI ตรวจสอบแหล่งที่มาได้หรือไม่?
แน่นอนว่าผลงานของ AI นั้นมีแหล่งอ้างอิงหรือ Reference เสมอ หากคุณสามารถตามร่องรอยได้ว่าผลงานที่ AI สร้างขึ้นตามคำสั่งของคุณมาจาก Reference ไหน ติดลิขสิทธิ์หรือไม่ ก็จะช่วยให้คุณทำงานได้อย่างหายห่วงมากขึ้น
แหล่งที่มาของผลงานที่มักไม่ติดลิขสิทธิ์สำหรับคนทำงานมีดังนี้
- Freepik.com (มีทั้งเวอร์ชั่นมีลิขสิทธิ์และไม่มีลิขสิทธิ์)
- Pixabay.com (มีทั้งเวอร์ชั่นมีลิขสิทธิ์และไม่มีลิขสิทธิ์)
- Pexels.com
- Unsplash.com (มีทั้งเวอร์ชั่นมีลิขสิทธิ์และไม่มีลิขสิทธิ์)
- Flickr.com/commons
- Archive.org
- ผลงานที่มาจากเว็บไซต์ประเภท Public Domain
2. ผลงานที่นำไปใช้ต้องการการอ้างอิงหรือไม่?
การอ้างอิงชื่อผู้ผลิตผลงานถือว่าเป็นการให้เกียรติกับคนทำงานสร้างสรรค์ แต่นั่นอาจไม่ใช่ข้อบังคับเสมอไป เพียงแต่ว่าก่อนที่คุณจะนำผลงานนั้นไปใช้ แม้ว่าจะเป็นผลงานที่มาจาก AI ก็ตาม คุณก็ต้องตรวจสอบก่อนว่าผู้ผลิตมีเงื่อนไขให้ใส่ Credit หรือไม่ ผ่านการยินยอมและให้อนุญาตจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือยัง ถ้าเกิดคุณไม่ได้ทำตามเงื่อนไขที่ว่า อาจเกิดคดีความหรือการฟ้องร้องก็เป็นได้
ผู้ผลิตผลงานส่วนใหญ่มักจะใช้วิธีดังนี้ในการอนุมัติให้ใช้ผลงาน
- ใส่ Credit ว่างานสร้างสรรค์นี้มาจากเว็บไซต์ใด
- ใส่ Credit ว่าใครคือผู้ผลิตผลงาน
- ไม่ต้องอ้างอิงผู้ผลิตผลงานก็ได้ เพียงแค่ชำระเงินค่าใช้งานลิขสิทธิ์
- หากเป็นการใช้งานภายในองค์กรหรือใช้เพื่อการศึกษา ไม่ใช่เพื่อการค้าหรือการแสวงหาผลกำไร ผลงานอาจไม่ต้องใส่อ้างอิงก็ได้
3. สิ่งที่ประกอบอยู่ในผลงานนั้นถูกต้องจริงหรือไม่?
ผลงานที่เกิดขึ้นจาก Generative AI โดยเฉพาะงานเขียนนั้น อาจเป็นส่วนผสมจากความคิดเห็นหรือข่าวลือที่ AI ได้เรียนรู้ในอินเตอร์เน็ต ดังนั้น คนทำงานต้องตรวจสอบให้ดีว่าข้อมูลที่ได้รับจาก AI นั้นมีที่มาที่ไปที่น่าเชื่อถือหรือไม่ มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่าข้อมูลที่นำไปใช้เป็นข้อมูลเท็จไปได้
วิธีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลง่าย ๆ สำหรับคนทำงานมีดังนี้
- เพิ่มคำว่า “พร้อมแหล่งที่มา” ทุกครั้งที่ใช้ AI ช่วยหาคำตอบ จะทำให้สามารถตรวจสอบและค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ในแหล่งที่มาดังกล่าว
- ลองคัดลอกข้อความที่ได้จาก AI ไปค้นหาบน Google เพื่อตรวจสอบแหล่งที่มาและการคัดลอกผลงาน (Plagiarism) ไปด้วยในตัว
- หลีกเลี่ยงการใช้ Wikipedia.org เป็นแหล่งอ้างอิง เนื่องจากข้อมูลสามารถถูกแก้ไขได้จากบุคคลภายนอก
ทักษะที่คนทำงานต้องมีเพื่อใช้งาน AI ได้ไม่สะดุด
1. การยกระดับสกิลและการสร้างสกิลใหม่ (Upskilling & Reskilling)
แน่นอนว่า AI เป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังนั้น คนทำงานที่ต้องการให้ AI เป็นตัวช่วยในการทำงานที่ตรงใจ ลดเวลาทำงานได้ และมีคุณภาพ ต้องเรียนรู้ทักษะในการใช้งาน AI ดังกล่าวด้วย
ตัวอย่างของทักษะที่จำเป็นในการทำงานกับ AI
- การใส่ Prompt (คำสั่งที่ต้องการให้ AI ตอบสนอง) ที่ทำให้ผลลัพธ์ตรงตามที่ต้องการเป๊ะ ๆ
- การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) ที่ช่วยให้การทำงานกับ AI เป็นไปอย่างสมเหตุสมผล สามารถตรวจความถูกผิดของ AI ได้
- ความเข้าใจการทำงานของ AI ช่วยให้มองเห็นภาพว่าการประมวลผลของ AI ส่งผลต่อผลลัพธ์ที่เราจะได้อย่างไร
2. ความทะยานอยากเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด (Life-long Learning)
ด้วยความที่ AI พัฒนาตัวเองอยู่เรื่อย ๆ ทำให้มีสิ่งที่คนทำงานต้องปรับตัวให้เข้ากับ AI อยู่ตลอดเวลา ความรู้สึกอยากเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดนี่แหละคือสิ่งที่ทำให้คนทำงานวิ่งตามเทรนด์ของ AI ได้ทันเสมอ พร้อมเปิดใจกับความเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาเรื่อย ๆ
คุณลักษณะที่ทำให้เห็นได้ว่าคน ๆ นั้นมี Life-long Learning มีดังนี้
- ปรับตัวเก่ง
- เปิดโอกาสให้กับความท้าทายใหม่ ๆ
- มีความคิดสร้างสรรค์
- ขี้สงสัยใฝ่รู้
- สามารถคิดเพื่อแก้ปัญหาได้
3. การประยุกต์ใช้ AI กับการทำงาน
สำคัญที่สุดเลยสำหรับคนทำงานที่จะใช้ AI เป็นตัวช่วยคือต้องรู้ว่าความสามารถของ AI นั้นเอามาประยุกต์ใช้กับงานของตัวเองได้อย่างไรบ้าง ช่วยเพิ่มคุณค่าหรือแก้ปัญหาในส่วนใดของงานได้ และส่งผลดีต่อการทำงานในภาพรวมอย่างไร
สำหรับคนทำงานในสายธุรกิจต่าง ๆ AI สามารถเข้ามาช่วยเหลือได้ในหลายขั้นตอน เช่น
- การวางคอนเสปต์งาน
- การทำสื่อสำหรับนำเสนอ
- การวิเคราะห์ข้อมูล
- การแปลภาษา
- การสรุปความเอกสาร
การทำงานระหว่างมนุษย์กับ AI นับว่าเป็นความสัมพันธ์แบบน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าก็ว่าได้ เพราะต่อให้ AI มีศักยภาพในการทำงานเป็นอย่างมาก แต่ก็ยังต้องอาศัยมนุษย์ตรวจสอบความถูกต้องแม่นยำอยู่ดี ในขณะเดียวกัน คนทำงานก็สามารถพึ่งพา AI ในการลดเวลาทำงานบางอย่างเพื่อไปโฟกัสกับสิ่งอื่นได้
อัปสกิลให้เท่าทัน AI แล้วไปตามหางานใหม่ปัง ๆ ได้ที่ Jobtopgun!
เว็บไซต์ www.jobtopgun.com โดนใจคนทำงานที่กำลังหางานใหม่อย่างแน่นอน เพราะที่นี่มีงานในหลากหลายสายอาชีพกว่า 5,000 ตำแหน่ง พร้อมตัวช่วยสร้าง resume ชั้นยอดอย่าง Super Resume ที่ฉายสปอตไลท์ไปที่จุดเด่นในตัวคุณ รวมถึงสามารถอ่านรีวิวเงินเดือน บรรยากาศการทำงาน สวัสดิการ และอื่น ๆ อีกมากมายที่เป็นตัวช่วยในการตัดสินใจสมัครงานของคุณได้ทางเว็บไซต์ www.yousayhrsay.com