แม้จะดูไม่ใช่อาชีพอันดับต้น ๆ ที่เด็กรุ่นใหม่ในยุคนี้อยากทำมากนัก แต่ “โฟร์แมน” ยังคงเป็นอาชีพที่ขาดไม่ได้ในทุกงานก่อสร้างต่าง ๆ และเป็นที่ต้องการอยู่เสมอในธุรกิจบริการก่อสร้างและสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีโครงการหรือโปรเจกต์งานก่อสร้างใหญ่ ๆ มากมายก่อเกิดขึ้นมาตลอดเวลา ใครกำลังมองหางานที่ท้าทายความสามารถ มีทักษะการเป็นผู้นำ และยังได้ค่าตอบแทนค่อนข้างดี ลองมา “ทำความรู้จัก ‘โฟร์แมน’ อาชีพที่กำลังเป็นที่ต้องการ” ไม่แน่ว่าอาชีพนี้อาจจะกลายเป็นงานในฝันของใครหลายคนก็เป็นได้
โฟร์แมนคือใคร ทำไมถึงเป็นอาชีพที่ขาดไม่ได้ในงานก่อสร้าง?
รู้จัก “โฟร์แมน” ตำแหน่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ในงานก่อสร้าง
“โฟร์แมน” (Foreman) คือ หัวหน้างานหรือผู้ควบคุมงานก่อสร้างต่าง ๆ ให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ เสร็จสิ้นสมบูรณ์แบบ ถูกต้องและได้มาตรฐานตามแผนที่กำหนดไว้
โดยหน้าที่หลัก ๆ นอกจากคอยควบคุมดูแลการก่อสร้างให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย ทั้งคุณภาพ ต้นทุน งบประมาณ เวลา และความปลอดภัยในการทำงานแล้ว โฟร์แมนยังต้องทำหน้าที่วางแผน รับผิดชอบการปฏิบัติงาน ติดตามความก้าวหน้า ไปจนถึงประสานกับฝ่ายต่าง ๆ
ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การก่อสร้างนั้น ๆ สำเร็จตามเป้าหมายไปได้อย่างราบรื่น
โดยทั่วไปแล้วคนที่อยากทำงานเป็นโฟร์แมนต้องจบการศึกษาขั้นต่ำในระดับ
ปวส. – ปริญญาตรี ในด้านวิศวกรรมโยธา ก่อสร้าง หรือสาขาที่เกี่ยวข้อง และมีประสบการณ์ในสายงานก่อสร้างอย่างน้อย 1 ปี ขึ้นไป เพราะโฟร์แมนต้องทำหน้าที่หัวหน้าดูแลงานในฝ่ายนั้น ๆ ทั้งหมด จึงควรมีความรู้ในการทำงานก่อสร้าง ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติมากพอสมควร แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นผู้อาวุโสที่มีอายุเยอะอย่างเดียว ปัจจุบันมีโฟร์แมนมากมายที่อายุแค่ 20 ต้น ๆ ซึ่งมาพร้อมความรู้ ความสามารถ และทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็นในการทำงานตำแหน่งนี้
Foreman แตกต่างกับ Supervisor ตรงไหน?
หลายคนอาจจะสงสัยว่าแล้วตำแหน่งโฟร์แมนแตกต่างกับหัวหน้างานอย่าง
“ซูเปอร์ไวเซอร์” (Supervisors) ตรงไหน พูดง่าย ๆ ว่า ซูเปอร์ไวเซอร์หรืออีกชื่อคือ General Foreman จะเป็นผู้ดูแลโครงการในภาพรวมและแจกจ่ายส่งต่องานให้โฟร์แมนอีกที เรียกว่าเป็นหัวหน้างานของโฟร์แมนขึ้นไปอีกระดับนั่นเอง โดยซูเปอร์ไวเซอร์จะเป็นผู้ที่มีประสบการณ์การทำงานสูง เชี่ยวชาญในสายงานก่อสร้าง มีหน้าที่จัดการ ดูแล ควบคุมคุณภาพ และแก้ไขปัญหาของงานหรือโครงการนั้น ๆ ทั้งหมด ในขณะที่โฟร์แมนจะเน้นการดูแล ฝึกฝน และกำหนดงานให้ลูกน้องในฝ่ายที่ตนเองดูแลแยกย่อยลงไป เช่น ฝ่ายไฟฟ้า ฝ่ายช่างไม้ ฝ่ายช่างเชื่อม หรือฝ่ายประปา ให้ออกมาดีและมีประสิทธิภาพ ส่วนใหญ่เมื่อมีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์มากขึ้น โฟร์แมนก็มักจะขยับตำแหน่งขึ้นไปเป็นซูเปอร์ไวเซอร์ได้ต่อไป
ทักษะที่ต้องมีของ “โฟร์แมน”
ไม่เพียงแค่มีความรู้และประสบการณ์การทำงานในด้านการก่อสร้างและตกแต่ง มีใจรักการทำงานภาคสนาม หรือทำงานกลางแจ้งเท่านั้น แต่โฟร์แมนยังต้องมีทักษะอื่น ๆ ในการทำงานควบคู่ไปด้วยเช่นกัน เพราะนี่คืออีกหนึ่งงานที่ต้องทำงานกับคนหลากหลายฝ่ายและต้องใช้ทักษะทางสังคมมากกว่าที่คิด
𑇐 สื่อสารดี ประสานงานเก่ง
หนึ่งในทักษะที่ต้องมีของโฟร์แมนคือการเป็นผู้สื่อสารที่ดีและรู้จักการประสานงานกับทุกฝ่าย เพราะเป็นตำแหน่งที่เรียกได้ว่าเป็นคนกลางระหว่างผู้รับเหมา วิศวกร สถาปนิก และลูกค้า โฟร์แมนที่ดีควรรู้จักการสื่อสารที่ถูกต้อง ชัดเจน ครบถ้วน ตรงประเด็น เพื่อการทำงานที่ราบรื่นและมีประสิทธิภาพ ซึ่งเกิดผลดีกับทุกฝ่ายในการทำงานร่วมกัน นอกจากนี้ยังควรมีทักษะในการสอนหรืออธิบายงานให้แก่ลูกน้องได้เข้าใจอย่างชัดเจน สร้างความเป็นทีมเวิร์ก รวมไปถึงการให้ความเห็นและการตรวจสอบงานที่ต้องใส่ใจในรายละเอียดอยู่เสมอ
𑇐 เป็นนักวางแผน ชอบการจัดการ
เมื่อเป็นหัวหน้างานที่คอยดูแลทีมงานและขั้นตอนการทำงาน โฟร์แมนจึงต้องมีทักษะในด้านการวางแผนและการจัดการงานที่ดี มีความรู้และความเข้าใจในงาน รู้จักปรับเปลี่ยนพลิกแพลงกลยุทธ์ หากเกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด หรือต้องทำงานให้เสร็จสิ้นตามกำหนด
ในสภาวะที่ไม่เป็นใจ อย่างไรก็ตามการวางแผนไม่ใช่แค่การชี้นิ้วออกคำสั่งในออฟฟิศ แต่คือการลงไปติดตามและทำงานกับทีมที่หน้างาน เพื่อให้มองเห็นปัญหาและสิ่งที่เกิดขึ้นจริง และสามารถเตรียมพร้อมรับมือได้ทันท่วงที
𑇐 รู้จักแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
งานของโฟร์แมนย่อมเกิดปัญหาที่ไม่คาดคิดอยู่ตลอดเวลา ทักษะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าจึงสำคัญสำหรับงานนี้เช่นกัน ปัญหาหน้างานอาจมีได้ตั้งแต่การทำงานผิดพลาด เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่ต้องใช้เสีย ของไม่ได้เสปคตามต้องการ ไปจนถึงคนงานเกิด
ความขัดแย้ง ทะเลาะเบาะแว้งกัน ซึ่งทุกปัญหาเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดความล่าช้าและ
ความเสียหายตามมา โฟร์แมนที่ดีจึงต้องเป็นคนที่รู้จักแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า กล้าตัดสินใจ ไม่ทำให้ปัญหาบานปลาย เรียกว่านอกจากมีความรู้ความสามารถแล้ว ยังต้องเป็นคน
มีสติและควบคุมอารมณ์ได้ดีไปในตัว
𑇐 มีหัวใจบริการ
นอกจากทำงานกับคนหลากหลายฝ่ายแล้ว โฟร์แมนยังต้องเป็นคนที่รักในการบริการด้วย เพราะงานนี้เปรียบเหมือนตัวแทนของบริษัทหรือองค์กรที่ต้องคอยตอบคำถามและให้
คำแนะนำต่าง ๆ แก่ลูกค้าหรือผู้ว่าจ้าง ซึ่งต้องการคำตอบและอยากติดตามกระบวนการทำงานในแต่ละขั้นตอน โฟร์แมนคือผู้ที่เข้าใจในงานและเห็นการทำงานหน้างานอยู่แล้ว จึงเหมือนเป็นคนที่คอยให้บริการในการดูแลและตอบข้อสงสัยของลูกค้าเช่นกัน เรียกว่าต้องทำงานเป็นทั้งสายบู๊และสายบุ๋นเลยทีเดียว
ใครเริ่มสนใจงานโฟร์แมนแบบนี้ ลองเข้าไปหาข้อมูลและค้นหาตำแหน่งงานดี ๆ ได้ที่ www.jobtopgun.com หรือไปอ่านรีวิวบริษัทชั้นนำต่าง ๆ ที่เปิดรับโฟร์แมนมาก
ความสามารถกันได้เลยที่ www.yousayhrsay.com