หากตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคยหรืออยู่เหนือการควบคุม เชื่อว่าคนทุกคนจะมีความรู้สึกวิตกกังวลอย่างแน่นอน และความรู้สึกนั้นจะหายไปเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย แต่ถ้าหากความวิตกกังวลนั้นไม่หายไปและคงอยู่จนรู้สึกผิดปกติ เป็นไปได้ว่าความวิตกกังวลที่เผชิญนั้นอาจพัฒนาไปสู่โรค Anxiety แล้วก็ได้ วันนี้ พวกเราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกันว่าโรค Anxiety คืออะไร จะรู้ได้อย่างไรว่าเราเป็นหรือเปล่า และจะเอาชนะสิ่งนี้ได้อย่างไร
โรค Anxiety โรคที่บางคนเป็นแต่ไม่รู้ตัว
โรค Anxiety คืออะไรกันแน่? ต่างจากความวิตกกังวลปกติอย่างไร?
โรค Anxiety หรือโรควิตกกังวล เป็นโรคทางจิตเวทที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกวิตกกังวลเป็นอย่างมากในหลาย ๆ สถานการณ์ และผู้ป่วยของโรคนี้จะไม่สามารถจัดการตัวเองได้อย่างที่ควรเป็นเมื่อถูกกระตุ้นหรือไม่สามารถลดระดับความกังวลได้จนทำให้มีอาการแสดงออกมามากกว่าปกติ แม้ว่าสถานการณ์จะคลี่คลายแล้ว ความวิตกกังวลก็ไม่มีทีท่าจะลดลง ซึ่งแตกต่างจากความรู้สึกวิตกกังวลโดยทั่วไปที่เจ้าตัวจะสามารถควบคุมตัวเองได้เมื่อได้ตั้งสติ และเมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้ว อารมณ์จะกลับมาเป็นปกติ
อันที่จริงแล้วโรค Anxiety มีหลายประเภทด้วยกัน โดยโรค Anxiety ที่พบได้มาก ได้แก่
- Generalized Anxiety Disorder (โรควิตกกังวลทั่วไป)
- Panic Disorder (โรคแพนิก)
- Phobia (โรคกลัวแบบเฉพาะเจาะจง)
- Obsessive Compulsive Disorder (โรคย้ำคิดย้ำทำ: OCD)
- Post-Traumatic Stress Disorder (โรคเครียดหลังเหตุสะเทือนใจ: PTSD)
โดยสาเหตุหลัก ๆ ที่นำไปสู่โรค Anxiety คือกรรมพันธุ์ ความผิดปกติทางสมอง สภาพแวดล้อมของการเลี้ยงดูตั้งแต่ตอนเด็ก การเลียนแบบพฤติกรรม เหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อชีวิตเป็นอย่างมาก และอีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์และการสะสมความเครียด
ในบทความนี้ พวกเราจะโฟกัสที่ Generalized Anxiety Disorder (โรควิตกกังวลทั่วไป) เป็นหลักเพราะมีจุดที่เชื่อมโยงกับโรค Anxiety ประเภทอื่น ๆ ซึ่งอาจเป็นตัวช่วยในการวิเคราะห์ได้ว่าตัวเองเป็นโรคนี้หรือเปล่า
อาการของโรค Anxiety คืออะไรบ้าง?
จะสังเกตได้ว่าอาการของโรคนี้จะคล้ายกับอาการของความรู้สึกวิตกกังวลทั่วไป นั่นคือผู้ป่วยจะรู้สึกกระวนกระวาย อ่อนเพลีย ประหม่า หงุดหงิด หวาดกลัว ไม่มีสมาธิ นอนไม่หลับ ไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้อย่างเหมาะสม ความดันโลหิตพุ่งสูง น้ำเสียงสั่นเครือ มือเท้าสั่น คลื่นไส้ แต่สิ่งที่ไม่ค่อยพบในคนทั่วไปที่รู้สึกวิตกกังวลแต่พบในผู้ป่วยโรค Anxiety คืออาจมีเหงื่อออกมากผิดปกติ ปวดเกร็งกล้ามเนื้อ หน้ามืด โดยอาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นแม้จะไม่ได้มีตัวกระตุ้นที่สมเหตุสมผล คิดถึงแต่เหตุการณ์ร้าย ๆ ที่อาจเกิดขึ้นซึ่งเกินกว่าสถานการณ์จริง และไม่สามารถหยุดคิดเรื่องที่ว่าได้เลย อีกทั้งอาการเหล่านี้มักจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ใช้ระยะเวลาในการกลับมาสู่ภาวะปกตินานขึ้น และควบคุมไม่ได้
หากพบเห็นผู้ป่วยที่มีอาการเหล่านี้แต่ปล่อยไว้ไม่ได้ทำการรักษาเป็นเวลานานกว่า 6 เดือน อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต การทำงาน และความสัมพันธ์กับคนรอบข้างของผู้ป่วย จนอาจนำไปสู่โรคซึมเศร้าและตัดสินใจจบชีวิตได้ในที่สุด
สิ่งที่ช่วยในการเอาชนะโรค Anxiety คืออะไรบ้าง?
โรค Anxiety ไม่ใช่โรคทางกายที่ปล่อยไว้แล้วจะสามารถหายได้เอง ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและได้รับการรักษาตามความเหมาะสม แม้จะใช้ระยะเวลาในการรักษานานเป็นหลักเดือนหรือหลักปีแต่ผู้ป่วยก็สามารถก้าวข้ามโรคนี้ได้อย่างแน่นอน วิธีการรักษาทางการแพทย์ที่ผู้ป่วยจะได้รับมีดังนี้
1. การทำจิตบำบัด
การพูดคุยปรึกษากับนักจิตบำบัดนั้นสำคัญต่อการรักษาเป็นอย่างมาก นั่นก็เพราะว่าผู้ป่วยจำเป็นต้องรู้จักกับตัวเองก่อน ตั้งแต่แง่มุมของความรู้สึก ความสัมพันธ์ และอารมณ์ที่เกิดขึ้น หลังจากนั้น นักบำบัดจึงค่อย ๆ รักษาด้วยวิธีการปรับเปลี่ยนความคิดเพื่อทำให้ผู้ป่วยค่อย ๆ หลุดโฟกัสออกมาจากความคิดที่หมกมุ่นอยู่ได้ รวมถึงจะมีการสอนเทคนิคให้ผู้ป่วยรู้ทันและถอยออกมาจากสภาวะที่เกิดขึ้น เพื่อทำให้ความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นอยู่ข้างในนั้นลดลงได้
2. การใช้ยาบำบัด
ส่วนมากแพทย์จะจ่ายยาแผนปัจจุบันมาให้ผู้ป่วยรับประทาน ซึ่งจะเป็นยาตระกูลเดียวกันกับโรคเครียด โรคซึมเศร้า หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทส่วนกลาง โดยผู้ป่วยต้องรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ไม่อย่างนั้นอาจเกิดอาการดื้อยาได้
นอกจากการรักษาที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญดูแลแล้ว การปรับพฤติกรรมบางอย่างและดูแลตัวเองมากขึ้นก็ช่วยลดโรค Anxiety ได้
หรือแม้ว่าคุณเองจะไม่ได้เป็นโรค Anxiety คุณก็สามารถลองนำวิธีเหล่านี้ไปใช้เพื่อป้องกันจากโรคนี้ได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น
- ปรับตารางการออกกำลังกายให้เพียงพอและเหมาะสม
- เลือกบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีประโยชน์
- หลีกเลี่ยงชา กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- พักผ่อนให้เพียงพอ เริ่มนอนให้เร็วขึ้น
- สร้างสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้มีแต่ความสบายใจ
- หลีกเลี่ยงทุกสิ่งที่ทำให้อาการกำเริบได้
- หากิจกรรมหรืองานอดิเรกที่ทำแล้วผ่อนคลาย
- ฝึกสมาธิ ฝึกการปล่อยวาง พยายามมองโลกในแง่ดี
สามารถตามหาองค์กรที่มีบรรยากาศและเพื่อนร่วมงานดี ๆ หลีกหนีจากโรค Anxiety ได้ที่ Jobtopgun!
ค้นหางานในองค์กรที่เป็น safe zone ให้เราได้ ไม่ต้องวิตกกังวลบ่อย ๆ จนเป็นโรค Anxiety ที่ www.jobtopgun.com เว็บไซต์ที่รวบรวมงานในหลากหลายสายงานกว่า 5,000 ตำแหน่ง พร้อมตัวช่วยในการสร้าง resume ชั้นยอดอย่าง Super Resume ที่ฉายสปอตไลท์ไปที่จุดเด่นในตัวคุณ รวมถึงสามารถอ่านรีวิวเงินเดือน บรรยากาศการทำงาน สวัสดิการ และอื่น ๆ อีกมากมายที่เป็นตัวช่วยในการตัดสินใจสมัครงานของคุณได้ทางเว็บไซต์ www.yousayhrsay.com