ทำความรู้จักภาวะ Quiet Quitting และวิธีการรับมือ

               เรียกว่าเป็นปรากฏการณ์ทางพฤติกรรมของเหล่าคนทำงานยุคใหม่ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก สำหรับ “Quiet Quitting” ที่ไม่ได้แปลว่าการลาออกแบบเงียบ ๆ แต่หมายถึง “การไม่ทำงานเกินหน้าที่” (หรืออาจจะพูดได้ว่า “ลาออกจากการทำงานหนัก”) เพื่อลดความเหนื่อยหน่ายและปัญหาความเครียดต่าง ๆ ที่เกิดจากการทำงาน และการไม่เชื่อว่าทำงานหนักแล้วจะได้ดี ซึ่งมีแนวโน้มที่แย่ลงหลังจากการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้หลายคนรู้สึกประสบภาวะหมดไฟจากการทำงานหนักเกินไป โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม และกังวลว่าการทำงานหนักเหล่านั้นอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตในระยะยาว

Quiet Quitting เทรนด์ทำงานในหมู่คนรุ่นใหม่

Quiet Quitting คืออะไร

รู้จัก Quiet Quitting วิถีใหม่ของคนทำงานในยุคนี้

               อันที่จริงแล้วกระแสความนิยม Quiet Quitting อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่คือเทรนด์
การทำงานที่ต่อเนื่องมาจาก The Great Resignation หรือกระแสการลาออกและโยกย้ายครั้งใหญ่ของผู้คนทั่วโลกในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ก่อให้เกิดความเครียดและความกดดันในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยจุดเริ่มต้นของปรากฏการณ์ลาออกจากงาน (หนัก) นี้มาจากผู้ใช้งานแอคเคานต์ @zaidleppelin ได้โพสต์คลิปพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และเน้นประโยคที่ว่า “ลาออกจากวัฒนธรรมการคลั่งทำงาน เพราะงานไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิตคุณ” ซึ่งทำให้มีผู้เข้ามาดูหลายล้านครั้งและเกิดการแชร์คลิปจนกลายเป็นไวรัลไปทั่วโลกอินเตอร์เน็ต

               แม้ในช่วงปีนี้ โควิด-19 จะเริ่มลดการระบาดและกำลังกลายเป็นโรคประจำถิ่นที่ทุกคนต้องปรับตัวในการอยู่ร่วมกับมัน แต่ดูเหมือนว่าไวรัสใหม่ที่มาแทนและกำลังแพร่ระบาดในหมู่คนทำงานทั่วโลกกลับเป็นภาวะหมดไฟ (Burnout Syndrome) และความหมดอาลัยตายอยากจากการทำงานหนักที่มองไม่เห็นอนาคต โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ Gen Z ที่นิยมวัฒนธรรมการทำงานแบบ Work Life Balance เน้นจัดการสมดุลของชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานให้เหมาะสมลงตัวและการเห็นคุณค่าของตัวเองมาเป็นอันดับแรก รวมทั้งคน Gen Y และ Millennials บางส่วนที่เริ่มลดการชื่นชมวัฒนธรรมการบูชาการทำงานหนัก และหันกลับมาดูแลและใส่ใจความต้องการของตัวเองกันมากขึ้น

Quiet Quitting ไม่ใช่การไม่รับผิดชอบงาน

ความแตกต่างของ Quiet Quitting และการไม่รับผิดชอบงาน

               อย่างไรก็ตาม แม้กระแส Quiet Quitting ที่เกิดขึ้นจะโดนใจและส่งผลให้หลาย ๆ คนกลับมาให้ความสำคัญกับชีวิตของตัวเองเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ จริง ๆ แล้วเรากำลังทำงานแบบ Quiet Quitting หรือไม่ใส่ใจและไม่มีความรับผิดชอบในงานที่ทำกันแน่ เพราะ Quiet Quitting นั้นไม่ใช่การไม่ทำงาน หรือเทงานที่เป็นหน้าที่ของเรา แต่คือการทำงานตามที่ได้รับมอมหมายอย่างเต็มความสามารถ โดยทำเท่าที่จำเป็นและปฏิเสธการทำงานหนักจนเกินกำลังหรือการทำงานล่วงเวลา รวมทั้งไม่พูดคุยเรื่องงานในเวลาส่วนตัว ซึ่งถือว่าเป็น
การเอาเปรียบจากองค์กร

               ทั้งนี้การโฟกัสงานในความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ยังส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้นได้ หากเราสามารถกำหนดขอบเขตและปริมาณงานได้อย่างเหมาะสม แต่สำหรับองค์กรบางครั้งอาจจะยังมีเส้นกั้นบาง ๆ ระหว่างเหล่า Quiet Quitter กับคนขี้เกียจที่พร้อมทิ้งงานได้ทุกเมื่อ เพราะฉะนั้นเราต้องพิจารณาว่าเรากำลังอยู่ในภาวะใดกันแน่ เพราะการทิ้งงานย่อมเป็นการทำลายโอกาสในการเจริญก้าวหน้า และไม่ส่งผลดีทั้งต่อองค์กรและต่อตัวเองอย่างแน่นอน

เราจะรับมือ Quiet Quitting อย่างไรดี ?

               ถ้าใครกำลังสงสัยหรือรู้สึกว่าเรากำลังอยู่ในภาวะ Quiet Quitting แล้วกังวลว่าจะต้องทำอย่างไร ลองนำวิธีรับมือเหล่านี้ไปปรับใช้ เพื่อไม่ให้การลาออกจากการทำงานหนัก
ส่งผลเสียจนกลายเป็นภาวะหมดไฟที่พร้อมทำลายหน้าที่การงานของเราไปในที่สุด

               𑇐 ประเมินและจัดลำดับความสำคัญของงาน

                พยายามกำหนดขอบเขตของงาน และจัดลำดับความของงานแต่ละประเภทให้ชัดเจน โดยใช้การบริหารจัดการเข้ามาช่วย จากนั้นจึงประเมินว่างานที่รับผิดชอบมีมากน้อยแค่ไหน แล้วลองจัดสรรเวลาในการทำงาน โดยไม่ให้เบียดเบียนชีวิตส่วนตัว หรือเกิดความรู้สึกว่าต้องแบกรับงานมากเกินไป จนกลายเป็นว่าเราอยากจะเทงานนั้นไปเลย

               𑇐 หาวิธีทำงานที่มีประสิทธิภาพแบบไม่เกินขีดจำกัดของตัวเอง

               โฟกัสการทำงานในเวลาทำงานทุกชั่วโมงอย่างเต็มที่ ฝึกตัวเองให้มีสมาธิและทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ลองใช้ความคิดสร้างสรรค์มาพัฒนาทักษะในการทำงานให้เสร็จตามกำหนด โดยไม่ฝืนจนเกินไป แบ่งเวลาพักบ้างเมื่อเกิดความเหนื่อยล้า เพราะการโหมทำงานหนักติดต่อกันโดยไม่หยุดพักอาจส่งผลเสียทั้งกับตัวงานและสุขภาพของเรามากกว่าที่คิด

               𑇐 รู้จักขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง

               หากรู้สึกว่างานที่ต้องรับผิดชอบล้นมือมากเกินไป ลองขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมทีม หรือคนรอบข้างให้ช่วยแบ่งเบา (ในกรณีที่จำเป็นหรือฉุกเฉินจริง ๆ) นอกจากนี้ ควรรู้จักตอบปฏิเสธบ้าง หากเรามีงานเยอะอยู่แล้ว และไม่สามารถช่วยรับผิดชอบงานอื่นได้ เพราะการนำงานมาทับถมไว้ที่ตัวเองคนเดียวไม่ส่งผลดีกับงานและองค์กรอย่างแน่นอน

               𑇐 พูดคุยและบอกความต้องการที่แท้จริงกับหัวหน้างาน

               แต่ถ้าลองทำตามวิธีเหล่านี้แล้วรู้สึกไม่เวิร์คหรือก็ยังรับมือไม่ไหวอยู่ดี การพูดคุยปรึกษา ขอความเห็นและความช่วยเหลือจากหัวหน้างานหรือผู้บริหารก็เป็นอีกหนึ่งทางออกของปัญหา เพราะบางครั้งหัวหน้างานอาจไม่รู้จริง ๆ ว่าลูกน้องทำงานหนักเกินไป โดยองค์กรที่ดีควรรับฟังและร่วมมือแก้ไขปัญหา รวมทั้งหาแนวทางการทำงานที่มีประสิทธิภาพกันทั้งสองฝ่าย เพื่อให้การส่งผลดีและสร้างประโยชน์แก่องค์กรและตัวพนักงานเองอย่างดีที่สุด

               ใครกำลังเกิดอาการ Quiet Quitting ไปหาข้อมูลและค้นหาตำแหน่งงานดี ๆ
ที่พร้อมให้ Work Life Balance ได้ที่ www.jobtopgun.com หรือไปอ่านรีวิวบริษัทชั้นนำ
ต่าง ๆ เพื่อเป็นทางเลือกได้ที่ www.yousayhrsay.com

สมัครงานกับบริษัทชั้นนำทันที สร้าง Super Resume (ใบสมัครงาน) เลย ฟรี!

คำค้นหายอดนิยม

..