“ผู้ตรวจสอบบัญชี” คือหนึ่งในอาชีพที่มีความสำคัญสำหรับทุกองค์กร และต้องอยู่คู่กับทุกธุรกิจ จึงเป็นอาชีพที่หลายคนสนใจ แต่สำหรับคนที่เพิ่งจบใหม่ รวมไปถึงคนที่ต้องการหางานในสายอาชีพบัญชี แต่ยังไม่แน่ใจว่าผู้ตรวจสอบบัญชีคืออะไร? ต่างจากนักบัญชีหรือไม่? และหากต้องการเป็นผู้ตรวจสอบบัญชี ต้องทำอะไรบ้าง? เรามีคำตอบมาบอกกัน
อาชีพผู้ตรวจสอบบัญชี คืออะไร? มีหน้าที่อะไรบ้าง?
ผู้ตรวจสอบบัญชีคืออะไร?
ผู้ตรวจสอบบัญชี เป็นผู้ที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบความถูกต้องและครบถ้วนของบัญชี รวมถึงตรวจสอบงบการเงิน เอกสารทางการเงิน รายการธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ เพื่อให้ถูกต้องตามมาตรฐานการสอบบัญชี และเพื่อการพิสูจน์ความถูกต้อง
นอกจากนี้ ผู้ตรวจสอบบัญชียังต้องจัดทำรายงานเพื่อแสดงให้เห็นถึงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของกิจการ เพื่อให้ผู้ที่ได้อ่านรายงานนี้ เข้าใจความเป็นไปเกี่ยวกับงบการเงินของธุรกิจได้อย่างถูกต้อง นำไปสู่การจัดสรรงบและบริหารการเงินของธุรกิจอย่างเหมาะสมต่อไป
ผู้ตรวจสอบบัญชีต่างจากนักบัญชีอย่างไร?
ผู้ตรวจสอบบัญชีและนักบัญชีจะแตกต่างกันตรงหน้าที่ในองค์กร โดยนักบัญชีคือผู้ที่ทำบัญชีให้แก่องค์กรต่าง ๆ ส่วนผู้ตรวจสอบบัญชี คือผู้ตรวจสอบบัญชีขององค์กร ซึ่งจัดทำโดยนักบัญชีนั่นเอง
ผู้ตรวจสอบบัญชี มีกี่ประเภท?
ผู้สอบบัญชีสำหรับกิจการที่เป็นนิติบุคคล มี 2 ประเภท คือ
ผู้สอบบัญชีภาษีอากร (Tax Auditor :TA)
ผู้สอบบัญชีภาษีอากร คือผู้สอบบัญชีที่ได้รับการขึ้นทะเบียนและได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมสรรพากร
หน้าที่ของผู้สอบบัญชีภาษีอากร คือการตรวจสอบงบการเงินของห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดเล็ก รวมถึงเป็นผู้ออกรายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชี โดยสามารถตรวจสอบและรับรองบัญชีเฉพาะห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดเล็ก (ทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท สินทรัพย์รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท และรายได้รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท) เท่านั้น
ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (Certified Public Auditor: CPA)
ในส่วนของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต คือผู้สอบบัญชีที่ได้ขึ้นทะเบียนและได้รับใบอนุญาตจากสภาวิชาชีพบัญชี ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพ พ.ศ. 2547
หน้าที่ของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต คือการตรวจสอบบัญชีและรับรองงบการเงินสำหรับกิจการที่เป็นนิติบุคคล โดยสามารถตรวจสอบและรับรองบัญชีของบริษัท ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ได้ทุกขนาดและทุกประเภท แต่ไม่สามารถตรวจสอบบัญชีให้กับบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ได้
อยากเป็นผู้ตรวจสอบบัญชี ต้องทำอะไรบ้าง?
สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทางด้านการบัญชี
คุณสมบัติประการแรกที่ผู้ตรวจสอบบัญชีต้องมีคือ ต้องจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีทางด้านการบัญชี หรือเทียบเท่าทางบริหารธุรกิจพาณิชยศาสตร์ เศรษฐศาสตร์
หากไม่ได้จบด้านการบัญชีและบริหารธุรกิจโดยตรง แต่จบการศึกษาจากสาขาอื่นที่คณะกรรมการสภาวิชาชีพบัญชีเห็นชอบว่ามีความเกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพบัญชี ก็สามารถเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีได้เช่นกัน
เป็นสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี
ควรสมัครเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี เพื่อพัฒนาวิชาชีพบัญชีของตนเอง และเรียนรู้เกี่ยวกับข้อกำหนดมาตรฐานการบัญชี และข้อกำหนดจรรยาบรรณผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี เพื่อรักษามาตรฐานความเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีที่มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับจากคนในแวดวงวิชาชีพเดียวกัน
ผ่านการฝึกหัดงานสอบบัญชี
ในการจะเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีได้นั้น จำเป็นต้องผ่านการฝึกหัดงานสอบบัญชี โดยต้องฝึกหัดงานกับผู้ให้การฝึกหัดที่ได้รับการรับรองจากสภาวิชาชีพบัญชีเท่านั้น และต้องฝึกหัดงานเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี แต่ไม่เกิน 5 ปี นับตั้งแต่วันยื่นคำขอแจ้งการฝึกงาน อีกทั้งยังต้องมีเวลาฝึกงานรวมกันไม่น้อยกว่า 3,000 ชั่วโมงอีกด้วย
ผ่านการทดสอบ 6 รายวิชาเกี่ยวกับการบัญชี
นอกจากนั้น ยังจำเป็นต้องผ่านการทดสอบ 6 รายวิชาเกี่ยวกับการบัญชี คือ
• วิชาการบัญชี 1
• วิชาการบัญชี 2
• วิชาการสอบบัญชี 1
• วิชาการสอบบัญชี 2
• วิชากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพสอบบัญชี 1
• วิชากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพสอบบัญชี 2
ขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้สอบบัญชี
สิ่งสำคัญประการสุดท้ายที่ต้องทำคือ การขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้สอบบัญชี เพื่อเป็นการยืนยันว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการตรวจสอบบัญชี และสามารถทำหน้าที่ตรวจสอบบัญชีให้แก่องค์กรต่าง ๆ ได้นั่นเอง
ทั้งหมดนี้ คงช่วยให้คุณเข้าใจหน้าที่ของผู้สอบบัญชี และรู้ว่าถ้าต้องการเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีต้องทำอะไรบ้างกันมากขึ้นแล้ว ซึ่งสำหรับใครที่ต้องการหางานบัญชีและนักตรวจสอบบัญชี ใน กทม. และจังหวัดอื่น ๆ มาค้นหาตำแหน่งงานในบริษัทที่ใช่ ที่ JOBTOPGUN แอปหางานที่อัปเดตใหม่ทุกวัน ดูแลให้คุณได้งานง่าย ด้วย Super Resume ที่ให้คุณสร้าง Resume อย่างมืออาชีพ พร้อมนำเสนอคุณให้โดดเด่นกว่าใคร และยังมีรีวิวบริษัท ที่ช่วยให้คุณรู้จักบริษัทตามความจริง ดูแลให้คุณได้งานที่ดี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ได้ที่เบอร์ 02-853-6999 หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน JOBTOPGUN ได้ฟรีทั้งระบบ iOS และ Android