อยากเป็น “บรรณาธิการ” แค่ชอบอ่านหนังสืออาจไม่พอ

          เพื่อนๆ หลายคนเคยสงสัยกันบ้างหรือไม่ว่าบรรณาธิการ หรือที่เรียกกันจนติดปากว่า บ.ก. นั้นแท้จริงแล้วมีหน้าที่ทำอะไรกันแน่ ทำแค่อ่านต้นฉบับแล้วก็ส่งพิมพ์เลยหรือเปล่า หรือแค่หาหัวข้อต่างๆ มาให้นักเขียนเขียนส่งสำนักพิมพ์ก็พอแล้ว แล้วถ้าอยากจะเป็นบรรณาธิการบ้าง เพราะรักหนังสือ และชอบอ่านหนังสือจะพอแล้วหรือเปล่า ขาดอะไรไปหรือไม่ ในวันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจที่ว่ากัน กับหัวข้อบรรณาธิการนั้น ทำอะไรบ้าง

          แต่ก่อนอื่นขอออกตัวก่อนเลยว่าหน้าที่ของบรรณาธิการนั้นมีเยอะมาก และจะแตกต่างกันไปต่างแต่ละประเภทของสำนักพิมพ์ เช่นนิตยสาร หรือ หนังสือนิยาย เป็นต้น ดังนั้น จึงขอพูดแต่หน้าที่หลักๆ ที่มักจะทำกันโดยทั่วไป ถ้าเข้าใจตรงกันแล้ว ก็ตามมาดูหน้าที่ของบรรณาธิการกันเลย

1. แสวงหาและพิจารณาต้นฉบับ 

          นี่คือหน้าที่หลักของบ.ก.เลยก็ว่าได้ ถ้าเป็นในสมัยก่อนจะเน้นหนักไปที่คอยพิจารณาต้นฉบับ แต่ในทุกวันนี้อาจไม่พอ ทางบ.ก.เองก็ต้องออกไปหาต้นฉบับเพื่อมาพิจารณาว่ามีประโยชน์ และคุณค่าพอให้ตีพิมพ์หรือไม่

2. คิดคอนเซปต์ของหนังสือ 

          ไม่ใช่ว่าได้ต้นฉบับแล้วจะจบเพราะหน้าที่ต่อมาก็คือออกแบบคอนเซปต์ของหนังสือ ว่าจะนำเสนอในรูปแบบใด เน้นประเด็นไหน ให้น่าสนใจและดึงดูดผู้อ่าน

3. เขียนคำนำสำนักพิมพ์ 

          หากลองสังเกตกันดู เปิดมาในหนังสือแทบทุกเล่มนั้นจะมีส่วนของคำนำนักเขียน และคำนำสำนักพิมพ์แทบทั้งสิ้น ซึ่งในส่วนของคำนำสำนักพิมพ์นี้เองที่ทางบ.ก.เป็นคนเขียน ดังนั้นตัวบ.ก.เองก็ต้องมีความสามารถในการเขียนด้วย

4. เลือกภาพประกอบ 

          ในกรณีหนังสือที่มีภาพประกอบ บ.ก.ก็เป็นคนเลือกว่าจะใช้ภาพแบบไหน ถ้าเป็นภาพวาดก็ต้องเลือกให้สอดคล้องกับแนวของหนังสือ บางครั้งทางบ.ก.อาจเขียนบรี๊ฟงานเองเลยว่าต้องการภาพแบบไหน ทำท่าทางหรือลักษณะยังไงให้ทางนักวาดที่จะออกแบบให้

5. จัดหน้าหรือหากราฟฟิกช่วยจัดหน้า 

          การจัดหน้าที่ว่านี้หมายถึง การไฟล์ต้นฉบับ ไปเรียงลงบนหน้ากระดาษของหนังสือจริง ขั้นตอนนี้รวมไปถึงการตัดคำ เว้นวรรคคำ เรียบเรียงตัวหนังสือให้สวยงาม เหมาะสมกับขนาดรูปเล่มของหนังสือ บางที่บ.ก.ต้องทำหน้าที่นี้เอง หรือก็ต้องหากราฟฟิกมาช่วยจัดการให้

6. พิสูจน์อักษร 

          แม้ว่าจะมีแผนก หรือคนที่ทำหน้าที่พิสูจน์อักษรแยกอยู่แล้ว แต่ตัวบ.ก.เองก็ต้องเช็กแล้วเช็กอีกทั้งก่อนและหลังส่งไปพิสูจน์อักษร เพื่อให้มีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด

7. คิดชื่อหนังสือ 

          ถ้าในกรณีที่มีต้นฉบับที่ดีแล้ว แต่ยังไม่มีชื่อหนังสือ ก็เป็นหน้าที่ของบ.ก.เช่นเคยที่ต้องคิด อาจไม่ต้องคิดเองคนเดียว แต่ช่วยกันคิดทั้งกองบ.ก.ก็ได้ 

8. ออกแบบปกและคำโปรยปก 

          นอกจากเนื้อหาข้างในหนังสือ ข้างนอกหนังสืออย่างปกหน้าและหลังก็ไม่เว้นต้องตกเป็นหน้าที่ของบ.ก.อีกเช่นเคย ซึ่งงานยากก็อยู่ตรงนี้เพราะทางบ.ก.ต้องคิดกันให้ได้ว่าจะออกแบบปกแบบไหน ให้สวยงาม และดึงดูดลูกค้าให้มาสนใจหนังสือของเรา ตรงส่วนของคำโปรยปกก็เช่นกันที่ยากก็เพราะว่าต้องหาข้อความที่สั้น กระชับ ได้ใจความแถมต้องดึงดูดให้คนสนใจมาโฆษณาหนังสือที่ปกหน้าและหลังให้ได้

9. ติดต่อแหล่งข้อมูล 

          หนังสือบางประเภทที่ต้องมีแหล่งข้อมูลเช่น หนังสือธุรกิจ ทางบ.ก.ก็ต้องเป็นคนคัดเลือกและติดต่อเพื่อขอสัมภาษณ์แหล่งข้อมูล 

10. ประสานงานกับฝ่ายต่างๆ 

          หน้าที่ของบ.ก.นั้นไม่ได้อยู่แค่หน้าต้นฉบับ แต่ต้องติดต่อสื่อสาร คอยประสานงานกับฝ่ายต่างๆ ทั้งในและนอกสำนักพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายอาร์ต ฝ่ายบัญชี ติดต่อไปที่โรงพิมพ์ หรือออกไปคุยกับนักเขียนเพื่อสรุปแนวทางต้นฉบับ หรือพานักเขียนไปพบแหล่งข้อมูลที่ขอสัมภาษณ์ ทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็เป็นหน้าที่ของบ.ก.ที่ต้องรับผิดชอบเพื่อให้ได้หนังสือดีๆ ออกมาสักเล่ม 

หางานที่คุณต้องการได้ที่ JOBTOPGUN 

สมัครงานกับบริษัทชั้นนำทันที สร้าง Super Resume (ใบสมัครงาน) เลย ฟรี!

คำค้นหายอดนิยม

..