ชีวิตของเขาอาจโลดแล่นบนเส้นทางนั้นต่อไปเรื่อยๆ ถ้าไม่ได้เผชิญกับจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ ที่ทำให้ชีวิตต้องหักเหไปจากเดิม ที่มุ่งหาชื่อเสียงเงินทองไปสู่เป้าหมายใหม่ที่มีปลายทางอยู่บนแนวคิดจิตอาสาและหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
ด้วยแนวคิดนี้ทำให้เขา – เอกชัย บูรณผานิต ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนามใหม่เป็น แทนคุณ จิตต์อิสระ และหันหลัง ให้กับวงการบันเทิงอันหอมหวาน โดยทิ้งทวนงานละครด้วยบทบาทของแบงก์ ดาวร้ายที่ร้ายสมชื่อใน ทอฝันกับ มาวิน ปัจจุบันเขากลับมาเดินบนเส้นทางบันเทิงอีกครั้งในฐานะพิธีกรผู้ที่อุทิศตัวให้กับงานจิตอาสาและงานส่งเสริมธรรมะ
และเป็นประชาชนคนหนึ่งซึ่งรักและเทอดทูนในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างสุดหัวใจ วันนี้อี้ได้มาพูดคุยถึงชีวิต ภายหลังจากการประกาศอิสรภาพทางกายและใจจากกิเลส และความยึดมั่น ถือมั่นที่เคยมี
เพราะอะไรคุณอี้จึงเลือกที่จะดำเนินชีวิตด้วยแนวคิดจิตอาสาและมุ่งทำงานในทางธรรมครับ
ผมได้ทบทวนและวางแผนชีวิตให้กับตัวเองว่า เวลาช่วงที่เหลืออยู่นั้นสั้นลงทุกวันๆ เราควรจะรีบทำในสิ่งที่อยากทำให้มากที่สุด รวมทั้งเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับชีวิต ซึ่งในความคิดของผม การคิดถึงส่วนรวมให้มากๆ โดยใช้ธรรมะมาเป็นองค์ประกอบหลักในการขับเคลื่อนคือคุณค่าแท้ๆ ของการมีชีวิตอยู่ อีกประเด็นที่สำคัญมากคือ ผมเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าความสุขที่แท้จริงคืออะไร ผมพบว่าถ้าเรามองโลกในแง่ดี มองหาสิ่งดีๆ เราก็จะมีความสุข ผมพยายามจะแยกแยะตลอดมาว่า จริงๆ แล้วมนุษย์ต้องการความสุขหรือต้องการพ้นทุกข์กันแน่ จากสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น มีหลายอย่างที่ผมได้เรียนรู้ว่าคนไทยเป็นคนที่รักความสุขมาก แต่รักความสุขจนมองไม่เห็นว่าความทุกข์คืออะไร เราชอบรับรู้ แต่ไม่ชอบเรียนรู้ เวลาใครพูดปัญหาก็ โอ๊ย อย่าไปพูดเลยมันผ่านไปแล้ว แต่ผมคิดว่าถ้ามีปัญหาเราต้องแก้ไข ไม่ใช่หลีกหนีหรือว่าสร้างมิติของความสุขขึ้นมากลบเกลื่อนหรือว่าซ้อนทับ ทำไมเราไม่ดับที่สาเหตุใหญ่ๆ ของทุกข์ คือจิตใจของเรา ความอยากของเราความไม่รู้จักพอของเรา แล้วโลกปัจจุบันก็เป็นโลกที่กระตุ้นเร้าให้คนเกิดความโลภ เกิดกิเลสอยู่ตลอดเวลา ผมคิดว่าเราควรเรียนรู้จากสิ่งต่างๆ เพื่อให้เราอยู่กับสิ่งต่างๆ ได้อย่างกลมกลืนและเป็นธรรมชาติแต่สิ่งที่เป็นคุณธรรมความดีหรือธรรมะทั้งหลายก็ไม่ได้เกิดขึ้นมาได้ลอยๆ ต้องมีเหตุปัจจัย และต้องสร้าง การเรียนรู้ ไม่ใช่แค่ การรับรู้ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปสู่ทางที่สร้างสรรค์ได้จริงๆ ไม่ใช่แค่การเรียนการสอนอย่างที่เราทำๆ กันอยู่ ทุกคนควรต้องรู้จักหลัก 5 ข้อ หนึ่งก็คือ ความเสียสละ สอง ความพอเพียง สาม มีความกตัญญูรู้คุณชาติบ้านเมือง สังคม และครอบครัว สี่ มีความซื่อสัตย์สุจริต แล้วข้อที่ ห้า คือเรื่องของการพัฒนาสติปัญญา เพื่อให้เข้าใจตัวเองอย่างแท้จริง
ผมเพิ่งทำโครงการชื่อ “หนึ่งครอบครัว หนึ่งลูกกตัญญู” ก็พยายามอบรม5 ข้อนี้มาตลอด ฝึกเรื่องความเสียสละ คือรู้จักการลดตัวตนแล้วฝึกให้เคารพผู้อื่น โดยให้ไหว้พ่อแม่ทุกวัน ข้อสอง ความพอเพียง คือประหยัด ประโยชน์ ประยุกต์ ประหยัดคือ กินข้าวให้หมด ส่วนประโยชน์ก็คือ การรู้จักบริหารทรัพยากร บริหารทรัพย์สิน โดยในแต่ละสัปดาห์ให้เด็กเล็กๆ เก็บวันละ 5 บาท 10 บาท แล้วพอเก็บได้เดือนหนึ่งก็เอาเงินนี้ไปซื้อของให้พ่อแม่ อันที่สาม ประยุกต์ ก็คือใช้เสาร์อาทิตย์และเวลาว่างหลังเลิกงานไปช่วยพ่อแม่ทำงาน หรือหางานทำ แล้วก็บริหารจัดการเวลาให้ถูกต้อง ต่อมาข้อสามคือ การแสดงความรักความกตัญญูต่อกัน ข้อสี่คือ การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ด้วยความซื่อสัตย์จริงใจ เพื่อที่จะพัฒนาสติปัญญา
ผมคิดว่าความรู้กับจริยธรรมต้องคู่กันไปเสมอ แต่จริยธรรมสำคัญกว่า เพราะพอมีจริยธรรมเป็นพื้นฐานแล้ว ต่อไปความรู้ต่างๆ มันก็เรียนรู้กันได้ แต่ว่าทุกวันนี้เราไม่ค่อยส่งเสริมสิ่งเหล่านี้
แล้วตอนช่วยงานที่กระทรวงศึกษาธิการได้พยายามผลักดันเรื่องนี้ด้วยหรือเปล่า
ใช่ครับ แต่การผลักดันให้เกิดผลโดยทันนีทันใดอาจต้องใช้เวลาอีกพอสมควร ต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ขึ้นมา ซึ่งจริงๆ แล้วผมมองว่า สังคมไทยเรามีต้นทุนที่ดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นพื้นฐานที่เป็นคนใจดี โอบอ้อมอารี ว่านอนสอนง่าย
มีความกตัญญูเคารพผู้ใหญ่ ซึ่งผมคิดว่าขอเพียงแค่รักษาต้นทุนเหล่านี้ให้คงอยู่ในสังคมให้มากที่สุด ด้วยการส่งเสริมคุณค่าในวิถีชีวิตแบบไทยๆ ให้เกิดประโยชน์มากขึ้นแล้วลดการเปรียบเทียบในเชิงวัตถุให้น้อยลงไม่ต้องเปรียบเทียบว่าต้องมี BB หรือ iPhone เท่านั้นถึงจะดูดี เราต้องดูดีจากภายในด้วยวิธีคิด ซึ่งต้องใช้เวลาในการศึกษา ทำความรู้จักกัน เดี๋ยวนี้คนเราเป็นโรครีบไปหมด รีบคบหา รีบคุยกัน ต้องแชตกัน ซึ่งเป็นการกระชับวงล้อมของการดำรงชีวิตให้แคบเข้ามา ส่งผลให้การสื่อสารพูดคุยกันในครอบครัวน้อยลง สิ่งที่ผมทำหลักๆ ในตอนนี้คือ สื่อธรรมะเพื่อเยาวชน ด้วยความตั้งใจที่จะสร้างคนรุ่นใหม่ๆ ขึ้นมา โดยใช้หลักคิด 5 ข้อ คือ เสียสละ พอเพียง กตัญญู ซื่อสัตย์ แล้วก็ มีสติปัญญา คือคิดเป็น โดยพยายามให้งานลักษณะนี้ขยายผลออกไปมากที่สุด เป็นการสร้างอนาคตใหม่ๆ เพราะผู้ใหญ่ในปัจจุบันนี้เป็นผลผลิตของอดีตที่พากันเข้าใจผิดว่าความรู้ คือการพยายามเรียนรู้ให้ก้าวหน้าให้มากที่สุด โดยไม่มีความระมัดระวังหรือภูมิคุ้มกัน อีกทั้งไม่เข้าใจในภูมิปัญญาของสังคมไทย และไม่มีทิศทางในการพัฒนาอย่างแท้จริง ส่งผลให้เกิดการแข่งขัน แก่งแย่งทรัพยากรกัน ทำให้คนเครียดกันมากขึ้น มากขึ้น ผมคิดว่าถ้าหากเรามีทิศทางในการพัฒนา เข้าใจปัญหาเป็นอันดับแรกก็จะทำให้เราสามารถวางแผนในการแก้ปัญหา
ด้วยปัญญาอย่างเป็นระบบได้
|