การบวชที่วัดชลประทานฯ เปรียบเหมือนการเรียนจบปริญญาตรีทางธรรมของคุณหรือเปล่า
ผมคิดว่าเหมือนเข้าไปจบมัธยมปลาย และเริ่มเข้ามหาวิทยาลัยปีแรกทางธรรมมากกว่าครับ เพราะช่วงสองเดือนนั้นเราได้เข้าใจธรรมะได้ปฏิบัติธรรมมากขึ้น ซึ่งผมว่าดีมาก ก่อนที่จะสึกแล้วก็ดำเนินชีวิตมาเรื่อยๆ จนกระทั่งได้บวชอีกทีที่วัดพระราม 9 เมื่อปี 2551 ครั้งนั้นถึงจะเรียกว่าจบปริญญาตรีทางธรรมะได้ จากปี 2544 ที่บวชครั้งแรกมาถึงปี 2551 ก็เป็นเวลาที่ห่างกัน 7-8 ปี มาจนถึงทุกวันนี้ สิบปีก็ยังต้องเรียนรู้กันต่อไป จนกว่าจะ...เรียกว่า...จบปริญญาเอกคือนิพพาน หมายถึงการพ้นทุกข์ได้จริงๆ ผมว่านั่นคือหัวใจที่สำคัญที่สุดของการมีชีวิตอยู่ คือการเกิดเพื่อไม่ต้องเกิดอีก อันแรกคือ เกิดทางกายภาพมีชีวิต มีความคิด มีจิตใจ มีสถานภาพทางสังคม แต่เกิดอีกอันคือเกิดทางกิเลส เกิดเพื่อไม่ต้องเกิดกิเลส ไม่ต้องเกิดความโลภ ไม่ต้องเกิดความทุกข์อีก นั่นหมายความว่าในขณะที่มีชีวิตอยู่ มีการเกิดทางกายภาพ แต่ทางจิตภาพไม่ต้องเกิดอีก ไม่ต้องเวียนว่าย ไม่ต้องทุกข์กับมันอีก ซึ่งผมอาจจะต้องใช้เวลา อาจจะไม่จบในชีวิตนี้ด้วยซ้ำไป
คุณวางรากฐานเรื่องการศึกษาหรือการดำรงชีวิตของลูกเอาไว้อย่างไรบ้าง
ตอนนี้ลูกผม 4 ขวบแล้ว ผมคิดว่าผมกับครอบครัวโชคดีที่วางแผนไว้แล้วว่าลูกเราควรจะเป็นอย่างไร ผมเลือกโรงเรียนที่มีแนวการสอนแบบวอลดอร์ฟ (Waldorf Education) ที่ให้อิสรเสรีในการเล่น ไม่ได้เน้นวิชาการ ไม่เหมือนกับเด็กทั่วไปที่ต้องเรียน A B C ต้องเรียน ก ข ค ตั้งแต่อนุบาล เพราะผมคิดว่าไม่จำเป็น และเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงที่เด็กไทยมักเรียนรู้จากการท่องจำ อย่างเด็กเล็กๆ 3-5 ขวบปีแรกนี่ไม่ควรเรียนจากการท่องจำเลย แต่ควรให้เขาได้จินตนาการ เล่น และสัมผัสจับต้องสิ่งรอบตัวให้มากที่สุด พอโตหน่อยค่อยเรียนรู้เกี่ยวกับการเข้าสังคม จรรยาบรรณ ส่วนเรื่องหลักภาษานี่ ไปเรียนตอน 10-11 ขวบก็ยังไม่สายเกินไป
จริงๆ แล้วเรื่องการส่งเสริมต่างๆ ควรทำตั้งแต่ลูกอยู่ในท้องดด้วยซ้ำไป โดยพ่อแม่ต้องหาเวลาให้ได้ ผมเองจะสวดมนต์ด้วยบทสรภัญญะให้ลูกฟังตั้งแต่เขาอยู่ในท้อง เพราะเราเรียนรู้ว่าการสวดด้วยคลื่นความถี่ต่ำจะทำให้สติปัญญาเขานิ่ง เมื่อจิตนิ่ง สมาธิดี ปัญญาก็จะเกิดง่าย และเมื่อเขาเกิดมาแล้ว เราก็ปล่อยให้เขามีอิสระในการเล่นอย่างเต็มที่ เราแค่คอยระมัดระวังเรื่องอันตรายและไม่ให้เขาเบียดเบียนคนอื่น แล้วก็พยายามฝึกการเรียนรู้ให้มากที่สุด แต่จะไม่ให้ดูสื่อที่ไม่จำเป็น เพราะฉะนั้นมันมีนัยอย่างมากที่เราต้องช่วยกันฝึกแล้วก็สร้างเด็กรุ่นใหม่ๆ ให้เติบโตขึ้นมาบนวิถีแห่งธรรมะและความพอเพียง
แล้วคุณวางอนาคตของลูกเอาไว้อย่างไรครับ
ผมอยากให้เขาเรียนรู้ธรรมะให้มากที่สุด ทุกวันนี้ก็พยายามคุยธรรมะ และถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้เขาบวชเป็นพระในอนาคตอันใกล้แต่จะไม่บังคับนะครับ ผมไม่ชอบบังคับใคร และจะไม่ยอมให้ใครมาบังคับผมเหมือนกัน ผมคิดว่าวิถีชีวิตของพระน่าจะเป็นวิถีชีวิตที่ดีที่สุด ผมเองวันหนึ่งก็อาจจะเลือกทางนั้นเหมือนกัน เป็นความฝันอันสูงสุดของผมเลยว่า อยากนิพพานให้ได้ในชาตินี้ คือจะเดินไปให้ถึงที่สุดของธรรมะ ซึ่งก็คงต้องอาศัยหลายปัจจัย แต่นั่นคือความมุ่งหวังที่สูงสุดในชีวิต
คุณได้รางวัลมามากมายจากหลายฐานะ รางวัลไหนเป็นรางวัลแรกที่คุณนึกถึงอย่างภาคภูมิใจที่สุด
รางวัลที่ผมภูมิใจที่สุด ถือเป็นเกียรติประวัติสูงสุดคือ รางวัลพระราชทานเทพทอง เป็นรางวัลพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้จากการเป็นพิธีกรนะครับ อันนั้นคือรางวัลที่ดีที่สุดในชีวิต มันเป็นกำลังใจว่าเราต้องรักษามาตรฐานการทำงานให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วก็ต้องพยายามธำรงไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ นี่คือหัวใจสำคัญของการได้รางวัล ไม่ใช่แค่การทำให้เราพองขึ้นชั่วขณะหนึ่งแล้วก็แฟบหายไป แล้วมันก็ไม่ควรเป็นลักษณะที่พองไปเรื่อยๆ แต่มันต้องเติบโต
ผมว่าสิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่แค่เก่งอย่างเดียว แต่ต้องกล้าหาญในการที่จะรับใช้สังคมด้วย ตอนนี้การศึกษาก็เริ่มปรับทิศทางมาสู่การรับใช้สังคมมากขึ้น ซึ่งผมคิดว่าสำคัญมาก
|